นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า แม้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองชุมพรในฤดูน้ำหลากจะสมบูรณ์ในไม่ช้า ด้วยโครงการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเมืองลุ่มน้ำเมืองชุมพร ตามพระราชดำริ (คลองท่าตะเภา) และโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเมืองชุมพร (คลองชุมพร) แต่ในฤดูแล้ง พื้นที่ อ.ท่าแซะ และ อ.เมืองชุมพร ไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่รองรับเพื่อการเกษตรและการรักษาระบบนิเวศ นอกเหนือจากแก้มลิงหนองใหญ่ในเมืองชุมพร ความจุ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับใช้ประโยชน์ด้านการประปา การเกษตร และเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งเขื่อนท่าแซะและเขื่อนรับร่อถูกต่อต้านจนต้องชะลอและยกเลิกโครงการตามลำดับ
“เหนือตัวเมืองชุมพรตั้งแต่ท่าแซะลงมา เราไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่กักเก็บน้ำและหน่วงน้ำไว้ ที่พอทำได้คือการสร้างประตูระบายน้ำในคลองรับร่อ ซึ่งจะเก็บน้ำไว้ในลำน้ำได้ราวๆ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องที่ดิน”
ทางด้านเหนือคือคลองท่าแซะ กรมชลประทานได้ก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองท่าแซะเพื่อเป็นเครื่องมือยกระดับน้ำและส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตร รวมทั้งรองรับเขื่อนท่าแซะที่อยู่เหนือขึ้นไป แต่เมื่อเขื่อนท่าแซะถูกชะลอโครงการ ปตร.ท่าแซะ ก็ใช้กักเก็บน้ำไว้ในลำน้ำได้ราวๆ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร
นายเฉลิมเกียรติกล่าวว่า แนวโน้มความต้องการน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ของ จ.ชุมพรเพิ่มมากขึ้น เพราะเกษตรกรขยับขยายปลูกทุเรียน ไม้ผล และปาล์มน้ำมันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งพืชเหล่านี้ต่างต้องการน้ำสม่ำเสมอในปริมาณมาก ในขณะที่พฤติกรรมของฝนไม่ตกกระจายเหมือนก่อน ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำได้ในบางพื้นที่
“ไม่ว่าเขื่อนพะโต๊ะในลุ่มน้ำหลังสวน หรือเขื่อนไทรทอง และเขื่อนคลองลอยในลุ่มน้ำบางสะพาน ล้วนเกิดจากความต้องการน้ำของเกษตรกรทั้งสิ้น และยังจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ท้ายน้ำในชุมชนเมืองก่อนออกสู่ทะเลด้วย” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว