ภายหลังงานฉลองพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือนาซ่า ในการศึกษา “ผลึกเหลวในอวกาศ” หรือ Liquid Crystal เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยความพร้อมว่า “ร่วมสนับสนุนงานวิจัยฯ อย่างเต็มที่ พร้อมนำองค์ความรู้ บุคลากร และเทคโนโลยีด้านอวกาศมาร่วมส่งเสริมการศึกษาวิจัยผลึกเหลวฯ เพื่อการพัฒนางานวิจัยอย่างยั่งยืน” สำหรับการดำเนินงานนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะเป็นผู้รับผิดชอบ Scientific Part ของการทดลองนี้ ในขณะที่ GISTDA จะรับผิดชอบในการสร้างและทดสอบ Set อุปกรณ์ โดยจะมีทีม Engineer จาก NASA เป็นผู้กำกับดูแลร่วมกับทีมวิศวกรไทยในการสร้างอุปกรณ์ทั้งหมด การทดลองนี้จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะได้สร้างอุปกรณ์ขนาดใหญ่เพื่อให้นักบินอวกาศเป็นผู้ทดสอบและทดลองในอวกาศ โดยการสร้างอุปกรณ์นี้ต้องสอดคล้องกับ Safety Criteria ของการทดลองที่มีมนุษย์เป็นผู้ควบคุมในอวกาศ และจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้ทีมงานด้านอวกาศไทยสามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดเพื่อสร้างจรวดส่งไปในอวกาศได้เอง
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า งานวิจัยนี้เกิดขึ้นจาก 2 ความร่วมมือด้วยกัน คือ 1. เกิดจากทีมนักวิจัยหลัก นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ พัฒนโภครัตนา จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม นายธีรทัศน์ ชมโชค นักศึกษาปริญญาโท Dr. Padetha Tin NASA Senior Scientist จากนาซ่า และดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีกิจการอวกาศจาก GISTDA ที่ได้ร่วมศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ หรือ ลิควิดคริสตัล เพื่อพัฒนางานวิจัยในภาคอุตสาหกรรม และ 2. คือได้รับการตอบรับจากทางนาซ่าให้งานวิจัยดังกล่าวเข้าร่วมในโครงการโอเอซีส 2 ซึ่งเป็นโครงการที่เกี่ยวกับการศึกษาจุดพร่องในผลึกเหลวชนิดสเมกติกในอวกาศ
ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวต่อว่า งานวิจัย Liquid Crystal ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ชิ้นนี้ ถือเป็นงานวิจัยเพื่ออนาคตที่มีความสำคัญต่อโลกเป็นอย่างมาก และเป็นงานวิจัยขั้นสูงที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก ที่ผ่านมาในการดำเนินงานในระยะที่ 1 GISTDA ได้ร่วมทำการวิจัยและสนับสนุนงานด้านวิศวกรรมและเครื่องมือสำคัญสำหรับการทดลองต่างๆ และยังได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาบุคลากรของโครงการให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเข้ามาฝึกและร่วมทำงานอยู่ที่ GISTDA ศรีราชา ซึ่งถือว่างานระยะที่ 1 สำเร็จไปได้ด้วยดี พอมาถึงระยะที่ 2 ที่จะดำเนินการในขั้นต่อไป GISTDA จะร่วมดำเนินการและสนับสนุนงานวิจัยโดยใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศที่เราพัฒนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นห้องปฏิบัติการที่จะใช้เพื่อการทดสอบด้านบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม อุณหภูมิ ความสั่นสะเทือนในสภาวะอากาศเสมือนจริง รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ ภายในศูนย์ทดสอบและประกอบดาวเทียมแห่งชาติ สำหรับการทดลองงานวิจัยนี้ ซึ่งถือเป็นการวิจัยด้านอวกาศขั้นสูงที่จะต้องสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ บทบาทของ GISTDA ในฐานะหน่วยงานด้านอวกาศของประเทศ เรายังคงขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกมิติและพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยมี Road map ด้านการวิจัยระบบโลกและอวกาศ ที่ชื่อว่า ESS หรือ Earth Space System ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของเสาหลักการทดลองวิจัยอวกาศระบบโลก ดังนั้น จุดเริ่มต้นของการดำเนินงานในครั้งนี้จึงเป็นการจุดประกายที่สำคัญของการวิจัยอวกาศในไทย อีกทั้งปัจจุบันได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการสำคัญต่างๆ มากมาย เช่น โครงการ Artemis ซึ่งเป็นโครงการด้านอวกาศที่อยู่ภายใต้การดูแลของนาซ่าที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะพานักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024 หรือ โครงการด้านการออกแบบหุ่นยนต์เพื่อใช้ในภารกิจต่างๆ และโครงการด้านอื่นๆ อีกหลายโครงการ ทั้งนี้ ทุกๆ งานวิจัยอวกาศที่ดำเนินการจะนำไปสู่อุตสาหกรรมอวกาศของประเทศและธุรกิจอวกาศต่อไปในอนาคต ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว