กระทรวงพลังงานลงนาม (MOU) ร่วมกระทรวงอุตสาหกรรมศึกษานำขยะอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า 200 เมกะวัตต์เพิ่มมูลค่า ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม มอบ กกพ.-สนพ.เร่งศึกษาอัตรารับซื้อที่เหมาะสมหวังเดินหน้าเปิดรับซื้อภายในไม่เกินสิ้นปีนี้ 100 เมกะวัตต์ เพื่อดันไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังการเป็นประธานในสักขีพยานการลงนามระหว่างกระทรวงพลังงานโดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กับกระทรวงอุตสาหกรรมโดยนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในบันทึกความเข้าใจการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า (Waste-to- Energy) และการส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีระยะเวลาความร่วมมือ 4 ปีเพื่อสอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจ BCG ( (Bio-Circular-Green Economy Model) โดยมีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเฟส 2 เพิ่มขึ้นอีก 600 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 200 เมกะวัตต์ โดยเตรียมเปิดรับซื้อภายในไม่เกินสิ้นปีนี้
“ขยะอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระทรวงอุตสาหกรรม เราจึงต้องร่วมมือกันดำเนินงาน โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปพิจารณาอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสมต่อไปก่อนประกาศรับซื้อ โดยหากต้องมีราคาสูงขึ้นเพื่อจูงใจแต่สามารถลดปริมาณขยะเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมได้ก็เป็นเรื่องจำเป็น” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
สำหรับแนวทางการรับซื้อเบื้องต้นที่หารือกันมีแนวโน้มว่าปี 2565 จะแบ่งเป็นโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมปีละ 100 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน 200 เมกะวัตต์ โดยจะมีการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบ (COD) ปี 2567 ขณะที่ปี 2566 จะรับซื้อในปริมาณเดียวกับปี 2565 แต่ COD ปี 2568 โดยก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะไปแล้วในระยะแรกรวมเป็นปริมาณทั้งสิ้น 343.94 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นขยะชุมชน 313.16 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 30.78 เมกะวัตต์ และยังมีในส่วนของการนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตความร้อนปริมาณ 135 Ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ”
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ทั้ง 2 กระทรวงฯ จะได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อศึกษาแนวทางศักยภาพของพื้นที่ และปริมาณขยะอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าดังกล่าวที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022) และให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 โดยได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลธุรกิจอุตสาหกรรมรวมถึงวัตถุอันตรายด้านการผลิต สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ตามกรอบของกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินงาน
“กระทรวงอุตสาหกรรมจะป้อนขยะอุตสาหกรรมให้ได้ 5 ล้านตันจากทั้งหมด 18 ล้านตันแต่จะไม่รวมกับขยะอันตรายใดๆ น่าจะเพียงพอที่จะช่วยลดการฝังกลบ ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการดูแลมาก โดยโรงงานที่สร้างขยะมีรวม 6 หมื่นแห่ง หากมีโรงไฟฟ้าอนาคตก็ไม่จำเป็นต้องหาพื้นที่ฝังกลบและกระทบสิ่งแวดล้อมชุมชนเพิ่ม” นายสุริยะกล่าว