ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งปี 64 มีมูลค่า 6,158.66 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 26.94% หลังตลาดสำคัญฟื้นตัวดีขึ้น สินค้าส่งออกได้มากขึ้น คาดแนวโน้มปี 65 โตต่อ แม้โอมิครอนระบาดแต่คู่ค้ายังเดินหน้าเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เหตุไม่รุนแรงเหมือนการระบาดช่วงแรก
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนธ.ค. 2564 มีมูลค่า 587.16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.33% เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 หากรวมทองคำมีมูลค่า 827.09 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.03% และส่งออกรวมทั้งปี 2564 (ม.ค.-ธ.ค.) ไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 6,158.66 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 26.94% หากรวมทองคำมีมูลค่า 10,042.76 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 44.79%
ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2564 กลับมาเพิ่มขึ้น มาจากการฟื้นตัวของตลาดสำคัญๆ ของไทย โดยสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง เพิ่มขึ้น 51.29% รองลงมาคือ ฮ่องกง จากที่มีการขยายตัวติดลบ ก็กลับมาเพิ่มได้เล็กน้อย 0.78% อินเดีย เพิ่ม 60.65% เยอรมนี เพิ่ม 1.70% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 134.66% เบลเยียม เพิ่ม 21.23% ญี่ปุ่น เพิ่ม 6.49% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 29.82% ออสเตรเลีย เพิ่ม 10.71% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 70.43%
ส่วนสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 21.71% เครื่องประดับทอง เพิ่ม 31.75% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 51.89% เพชรเจียระไน เพิ่ม 35.11% พลอยก้อน เพิ่ม 17.35% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 38.51% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 0.74% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 9.70% โลหะเงิน เพิ่ม 24.14% ส่วนเพชรก้อน ลด 54.68% ขณะที่ทองคำ ซึ่งเคยเป็นสินค้าส่งออกเพื่อเก็งกำไรช่วงที่ราคาทองคำสูงขึ้น ลดลง 70.88%
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2565 คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นต่อไป เพราะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่องนับตั้งแต่ มี.ค. 2564 เป็นต้นมา และหลายประเทศได้ปรับเปลี่ยนนโยบายกลับคืนสู่ภาวะปกติ หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับสูง และแม้จะมีสายพันธุ์โอมิครอน แต่ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงเช่นการระบาดในช่วงแรก ส่งผลให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัว มีการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ GIT ยังมีแผนสร้างความเชื่อมั่นให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยจะผลักดันให้ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน ผลิตสินค้าตรงตามที่ผู้บริโภคต้องการ และใช้ช่องทางการตลาดออนไลน์ในการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อการซื้อขายทางช่องทางออนไลน์