ทช.ลุยแผนสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาและสะพานเชื่อมเกาะลันตา มูลค่ากว่า 6.69 พันล้านบาท เสนอของบปี 66-68 และใช้เงินกู้สมทบ คาดเสร็จเปิดปี 2569 ผุดสะพานคานขึง แลนด์มาร์กใหม่หนุนท่องเที่ยวอ่าวไทย-อันดามัน ล่าสุดสะพานสงขลาผ่าน EIA แล้วเร่งชง ครม.
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทช.อยู่ระหว่างเตรียมแผนดำเนินโครงการก่อสร้างสะพาน 2 แห่ง ได้แก่ โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ถึง ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง วงเงิน 4,841 ล้านบาท และโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ วงเงิน 1,854 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าทั้ง 2 โครงการ จะเริ่มก่อสร้างประมาณปี 2566 และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2568 สามารถเปิดให้ใช้บริการได้ในปี 2569
ปัจจุบันโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาได้ดำเนินการสำรวจออกแบบเสร็จแล้ว รวมถึงผ่านการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ของสำนักนโยบายและเเผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และได้จัดทำคำขอภายในกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อเตรียมเสนอของบประมาณในปี 2566 โดยจะใช้เงินกู้และงบสมทบจากงบประมาณประจำปีในการดำเนินการก่อสร้าง
สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถลดระยะการเดินทางได้มากกว่า 80 กิโลเมตร ลดระยะเวลาได้ประมาณ 2 ชั่วโมง และยังสามารถใช้เป็นเส้นทางอพยพประชาชนในพื้นที่ จ.สงขลา ให้สามารถเดินทางไปยัง จ.พัทลุงได้รวดเร็วมากขึ้นหากเกิดภัยพิบัติ
ทั้งนี้ เนื่องจากตลอดแนวทะเลสาบสงขลามีสะพานอยู่เพียง 2 แห่ง ได้แก่ สะพานชะแล้ ตั้งอยู่ด้านล่างของทะเลสาบสงขลาเชื่อมต่อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา กับ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง และสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (สะพานไสกลิ้ง-หัวป่า) ตั้งอยู่ด้านบนของทะเลสาบสงขลา เชื่อมต่อ อ.ระโนด จ.สงขลา กับ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง โดยสะพานทั้ง 2 แห่งมีระยะทางห่างกัน 60 กิโลเมตร ทำให้ประชาชนที่อยู่พื้นที่ตรงกลางของทะเลสาบต้องใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง จากปัญหาดังกล่าว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง และ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา จึงขอรับการสนับสนุนการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาดังกล่าว
โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกจากถนนทางหลวงชนบท พท.4004 (กม.ที่ 3+300) บ้านแหลมจองถนน ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง วางแนวข้ามทะเลสาบสงขลาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และมีจุดสิ้นสุดที่ถนนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (ถนนรอบเกาะใหญ่) บริเวณหมู่ 2 บ้านแหลมยาง ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา รวมระยะทางทั้งสิ้น 7 กิโลเมตร โดยสะพานมีขนาด 2 ช่องจราจร (สามารถขยายเป็น 4 ช่องจราจรได้ในอนาคต) และมีรูปแบบสะพานที่เหมาะสม คือ สะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ (Box Segmental Bridge) นอกจากนี้ บริเวณราวสะพานได้ออกแบบให้มีความสวยงาม โดยนำรูปแบบทางจิตรกรรมมโนราห์ของท้องถิ่นมาประยุกต์ประกอบกับลักษณะทางโครงสร้างของสะพานที่แตกต่างจากสะพานอื่นและสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงาม ทำให้สะพานแห่งนี้จะเป็นแลนด์มาร์ก (Landmark) ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดในอนาคต
@ชง EIA สะพานเชื่อมเกาะลันตา คู่ขนาน เสนอ ครม.
สำหรับโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ นั้น อธิบดีทช.กล่าวว่า ปัจจุบันดำเนินการสำรวจออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และอยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบจาก ครม. ซึ่งได้จัดทำคำขอภายในกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อเตรียมเสนอของบประมาณในปี 2566 โดยจะใช้เงินกู้และงบสมทบจากงบประมาณประจำปี
ทั้งนี้ การก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเดินทางให้ประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่สัญจรไปมาระหว่างเกาะลันตากับแผ่นดินใหญ่ให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย เนื่องจากเกาะลันตาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของจังหวัดกระบี่ โดยในปี 2561 มีปริมาณนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่เกาะลันตามากกว่า 2 ล้านคนต่อปี แต่การเดินทางข้ามฝั่งจากแผ่นดินใหญ่ไปยังเกาะลันตาต้องใช้แพขนานยนต์ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน มีข้อจำกัดด้านการบรรทุกและช่วงเวลาการให้บริการ ทช.จึงได้ดำเนินโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง - ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เพื่อช่วยร่นระยะทางและลดระยะเวลาการเดินทาง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดหรือเทศกาลจะใช้เวลาเพียง 2 นาที จากเดิม 2 ชั่วโมง รวมทั้งสามารถอพยพประชาชนได้อย่างรวดเร็วกรณีเกิดภัยพิบัติ
สำหรับแนวเส้นทางโครงการจะเริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 (กม.ที่ 26+620) ตำบลเกาะกลาง ไปบรรจบกับทางหลวงชนบทสาย กบ.5035 ตำบลเกาะลันตาน้อย ระยะทางรวม 2,240 เมตร ซึ่งก่อสร้างสะพานเป็นรูปแบบผสมผสานระหว่างสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานยื่น (Balanced Cantilever Bridge) ความยาวสะพาน 1,825 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ช่องละ 3.75 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2.5 เมตร พร้อมถนนต่อเชื่อมทั้งสองฝั่งรวมระยะทาง 415 เมตร