กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยการค้าไทยกับคู่ FTA ปี 64 มีมูลค่า 342,050 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 10 ล้านล้านบาท เพิ่ม 24% เป็นการส่งออกถึง 166,960 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 5.2 ล้านล้านบาท เพิ่ม 19% ระบุเติบโตดีทุกตลาด สินค้าเกษตรเพิ่ม 29% เกษตรแปรรูป เพิ่ม 9% และสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 16% ย้ำในการส่งออกอย่าลืมใช้สิทธิ์ FTA สร้างแต้มต่อ รวมทั้งใช้ RCEP ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถิติมูลค่าการค้าและการส่งออกของไทยกับประเทศคู่เจรจา FTA 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง พบว่าในปี 2564 การค้ารวมมีมูลค่า 342,050 ล้านเหรียญสหรัฐ (10,850,467 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 24% แยกเป็นการส่งออก มูลค่า 166,960 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,258,642 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 19% และนำเข้า มูลค่า 175,090 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,514,908 ล้านบาท)
สำหรับการส่งออกของไทยไปตลาด FTA ขยายตัวดีทุกตลาด โดยชิลี เพิ่ม 70% อินเดีย เพิ่ม 55% นิวซีแลนด์ เพิ่ม 51% เกาหลีใต้ เพิ่ม 38% เปรู เพิ่ม 33% จีน เพิ่ม 25% ออสเตรเลีย เพิ่ม 11% ญี่ปุ่น เพิ่ม 10% และฮ่องกง เพิ่ม 3% ส่วนอาเซียน เพิ่ม 17% เช่น ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 40% มาเลเซีย เพิ่ม 38% สปป.ลาว เพิ่ม 19% กัมพูชา เพิ่ม 16% อินโดนีเซีย เพิ่ม 16% เมียนมา เพิ่ม 14% และเวียดนาม เพิ่ม 12%
ส่วนการส่งออกสินค้าไปยังคู่ FTA พบว่า สินค้าเกษตรพื้นฐาน ปศุสัตว์ และประมง ที่เป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสูง มีมูลค่า 19,174 ล้านเหรียญสหรัฐ (602,826 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 29% มีสัดส่วน 73.60% ของการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ยางพารา ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องเทศและสมุนไพร และผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง สำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป มีมูลค่า 12,071 ล้านเหรียญสหรัฐ (380,589 ล้านบาท) เพิ่ม 9% มีสัดส่วน 62.66% ของการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปของไทย สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร และไอศกรีม และสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 126,293 ล้านเหรียญสหรัฐ (3,977,231 ล้านบาท) เพิ่ม 16% มีสัดส่วน 58.58% ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
“ภาพรวมการส่งออกของไทยไปยังคู่เจรจา FTA ที่ขยายตัวได้ดี มีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า สินค้าไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน และเป็นที่ต้องการ และมี FTA เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างความได้เปรียบให้แก่สินค้าไทย และช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออก ซึ่งผู้ประกอบการควรใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่มแต้มต่อทางการแข่งขัน โดยปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ และมีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงฉบับล่าสุดของไทย และเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นตลาดที่มีผู้บริโภคถึง 2,300 ล้านคน 30% ของประชากรโลก และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา” นางอรมนกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2564 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ไทยจะมี FTA ฉบับแรก (ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน) มูลค่าการค้าและการส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยการค้ารวมของไทยกับประเทศคู่ FTA ขยายตัว 858% การส่งออกไปประเทศคู่ FTA ขยายตัวถึง 1,151% และสัดส่วนการค้าของไทยกับประเทศคู่ FTA ยังเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 63.5% และสัดส่วนการส่งออกสูงขึ้น 61.6% ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการขอใช้สิทธิ์จาก FTA สำหรับส่งออกไปประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น