xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มแอร์เอเชียเปลี่ยนชื่อเป็น Capital A ขยายธุรกิจ ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ Non-air 50 % ภายใน 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มแอร์เอเชียเปลี่ยนชื่อเป็น Capital A วางโฮลดิ้ง ขยายผลิตภัณฑ์และบริการ ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ที่ไม่ได้มาจากสายการบิน 50% ภายใน 5 ปี ปักธงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมบริการบำรุงรักษา ซ่อมแซม (MRO) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันที่ 28 ม.ค.2565 กลุ่มแอร์เอเชีย เบอร์ฮาด (มาเลเซีย) ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น แคปปิตอล เอ เบอร์ฮาด (Capital A) ซึ่งการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นเเละการวางกลยุทธ์ในธุรกิจใหม่ของกลุ่มบริษัท ในฐานะบริษัทโฮลดิ้งด้านการลงทุนที่ประกอบไปด้วยกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายพร้อมทำงานอย่างสอดประสานกัน โดยถือเป็นการเปลี่ยนภาพจำใหม่ของแบรนด์แอร์เอเชีย ให้เป็นมากกว่าสายการบินอย่างรวดเร็ว

นายโทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแคปปิตอล เอ กล่าวว่า สายการบินถือเป็นธุรกิจสำคัญที่สนับสนุนแบรนด์แอร์เอเชียอยู่เสมอ ซึ่งเรามีความตั้งใจที่หนักแน่นมานานแล้วก่อนเกิดการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ที่จะใช้ประโยชน์จากประสบการณ์และฐานข้อมูลที่แข็งแกร่งที่ได้สร้างขึ้นมาตลอด 20 ปี มาผสานกับเทคโนโลยีชั้นนำใหม่ๆ ของอุตสาหกรรมเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย นอกเหนือจากการจำหน่ายตั๋วเครื่องบินเท่านั้น ซึ่งการระบาดใหญ่ครั้งนี้ถือเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้เราพัฒนากลยุทธ์และเเนวคิดนี้ให้สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

“และนี่ไม่ใช่แค่การเปิดตัวโลโก้ใหม่เท่านั้น แต่เป็นก้าวสำคัญสู่ยุคใหม่ของพวกเรา เพื่อประกาศว่าเราไม่ใช่แค่สายการบินอีกต่อไป”นายโทนี่ กล่าว

สำหรับแคปปิตัล เอ เป็นบริษัทด้านการลงทุนที่มีพอร์ตธุรกิจมากมาย ซึ่งทั้งหมดนี้จะมุ่งเน้นไปที่การมอบสินค้าและบริการที่คุ้มค่าและดีที่สุดด้วยการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจากฐานข้อมูลที่แข็งแกร่งซึ่งสร้างขึ้นมานานกว่าสองทศวรรษ อีกทัังเรายังมียังมีแบรนด์แอร์เอเชีย ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำและแข็งแกร่งของเอเชีย มีวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับผู้คนเป็นอันดับแรก และคำมั่นสัญญาที่จะคงไว้ซึ่งความมุ่งมั่นในการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการให้กับทุกคน เช่นเดียวกับสิ่งที่สายการบินทำตั้งแต่วันแรก หน่วยธุรกิจต่างๆ ก็จะนำเสนอกลยุทธ์เดียวกันคือทุกสิ่งที่ทำต้องดีที่สุด นั่นคือทำให้การเดินทางและการบริการในชีวิตประจำวันมีราคาไม่แพง เข้าถึงได้ และครอบคลุมสำหรับทุกคน

“ขณะนี้ เรากำลังนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายครอบคลุม มากกว่าแบรนด์อื่นๆ ในอาเซียน และด้วยการเข้าถึงผู้คนกว่า 700 ล้านคนในภูมิภาคนี้ ผมมองเห็นโอกาสการเติบโตอย่างไม่น่าเชื่อสำหรับแบรนด์ของเราในอุตสาหกรรมต่างๆ ในตลาดหลักทั้งหมดของเรา” นานโทนี่ กล่าว

สำหรับ airasia Super App มีผลิตภัณฑ์และบริการ 16 รายการ ซึ่งไม่เพียงแต่มอบข้อเสนอเที่ยวบินและการเดินทางที่คุ้มค่าที่สุดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความต้องการในชีวิตประจำวันด้วย ตั้งแต่อาหาร การค้าปลีก และอีคอมเมิร์ซ ไปจนถึงบริการขนส่งในวันเดียวกัน บริการเรียกรถ และต่างๆ อีกมากมาย เราเป็นหนึ่งในสามตัวแทนการท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) ชั้นนำของอาเซียนแล้ว และซูเปอร์แอพของเรากำลังอยู่ในเส้นทางที่จะกลายเป็นแอพไลฟ์สไตล์ชั้นนำในภูมิภาคในไม่ช้า

ธุรกิจในพอร์ตโฟลิโอทั้งหมดของเรากำลังก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแวดวงเฉพาะด้านนั้นๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึง BigPay แผนกวิศวกรรมอากาศยาน Asia Digital Engineering (ADE) และบริษัทร่วมทุนด้านโลจิสติกส์ Teleport

โดยปัจจุบันมีผู้เยี่ยมชม airasia Super App มากกว่า 50 ล้านคนในแต่ละเดือน ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นยูนิคอร์นแห่งเทคโนโลยีภายในเวลาไม่ถึงสองปี ขณะที่ BigPay ธุรกิจด้านฟินเทคได้รับการอัดฉีดเงินจำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐจากกลุ่มบริษัท SK ในเกาหลีใต้ และโดยรวมได้ระดมทุนไปแล้วกว่า 2.5 พันล้านริงกิตผ่านกลยุทธ์การระดมทุน จากการสนับสนุนที่แข็งแกร่งของลูกค้าและนักลงทุน ขณะนี้ได้ตั้งเป้าหมายริเริ่มการระดมทุนเพิ่มเติมสำหรับ airasia Super App, Teleport และ ADE ซึ่งจะประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งเร็วๆ นี้

สำหรับส่วนที่เกี่ยวข้องกับสายการบิน นายโทนี่ กล่าวว่า แม้แคปปิตัล เอ จะเป็นชื่อบริษัทโฮลดิ้งใหม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือชื่อแบรนด์แอร์เอเชียสำหรับสายการบินของเรา ซึ่งจะยังคงเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดในเอเชียและเป็นแพลตฟอร์มที่พร้อมสำหรับการเติบโตของผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ ทั้งหมด ในการใช้ประโยชน์พึ่งพากันและกัน

“แม้ว่าสองปีที่ผ่านมาจะเป็นปีที่ยากลำบากและส่งผลให้ธุรกิจการบินเชิงพาณิชย์ แต่ผมยังมีความหวังและพร้อมสร้างโอกาสการกลับมาของปีต่อๆ ไปด้วยความมั่นใจที่มากขึ้น ปัจจุบันเที่ยวบินภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวในตลาดหลักแล้ว แม้ว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศจะกลับมาอย่างล่าช้าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 จากการเเพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน แต่ผมเชื่อทุกอย่างระเริ่มดีขึ้นเร็วๆ นี้ สอดคล้องกับที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระดับโลกหลายคนคาดการณ์ไว้ ควบคู่ไปกับแผนการกระจายฉีดวัคซีนที่รวดเร็วไปจนถึงการฉีดวัคซีนกระตุ้น ขณะที่คนทั่วโลกสามารถปรับตัวเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับโควิด ผมหวังว่าพรมแดนจะเปิดขึ้นใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไปตลอดปี 2565 และเราจะเห็นการกลับมาให้บริการตามปกติสำหรับเส้นทางระหว่างประเทศได้ภายในกลางถึงไตรมาสที่สามปีนี้” นายโทนี่ กล่าว

นอกจากนี้ เราได้ปรับเปลี่ยนตัวเอง และมีแผนการดำเนินการ 5 ปีที่เป็นรูปธรรม ซึ่งสัดส่วนรายได้ที่ไม่ได้มาจากสายการบิน จะเพิ่มมาอยู่ที่ร้อยละ 50 จากรายได้รวมของกลุ่มภายในปี 2569 และเมื่อสายการบินกลับมาให้บริการใกล้เคียงกับก่อนโควิด-19 ในอนาคตอันใกล้ เราจะสามารถสร้างรายได้จากกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ทั้งหมดอย่างเต็มที่

โดยภายในปี 2569 แคปปิตอล เอ ตั้งเป้าที่หมาย คือ 1.กลุ่มสายการบินที่เชื่อมต่อและให้บริการผู้คนกว่า 1 พันล้านคนในอาเซียน 2. แผนกวิศวกรรม (ADE) กลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมบริการบำรุงรักษา ซ่อมแซม หรือเป็น MRO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3. airasia Super App ก้าวเป็นสุดยอดแอปในอาเซียน 4. ผู้ใช้งาน BigPay 10 ล้านคนต่อเดือน 5. ส่วนแบ่งตลาด 10% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับ Teleport ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซ 6. มีผู้ลงทะเบียน 5 ล้านสำหรับกลุ่มผู้ให้ความรู้ AirAsia Academy 7. ยอดสั่งซื้อของชำ (grocery) ของแอร์เอเชียกว่า 21 ล้านรายการต่อเดือน

ชื่อบริษัทโฮลดิ้งแห่งใหม่คือ แคปปิตัล เอ มีผลทันทีหลังจากการจดทะเบียนชื่อโดยคณะกรรมการบริษัทแห่งมาเลเซียที่ประกาศเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2565 และได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการเมื่อ วันที่ 27 มกราคม 2565

การเปลี่ยนชื่อจาก แอร์เอเชีย เบอร์ฮาด เป็น แคปปิตัล เอ จะไม่มีผลใดๆ ต่อการดำเนินงานของบริษัทที่กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ชื่อหุ้นแอร์เอเชียบนกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศมาเลเซีย Bursa Malaysia Securities Berhad จะเปลี่ยนแปลงโดยมีผลทันทีเพื่อสะท้อนชื่อบริษัทใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น