xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” เช็กแผน "แลนด์บริดจ์" วางโมเดลธุรกิจสร้างรายได้เพิ่มความคุ้มค่าเทียบท่าเรือระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” ติดตามความคืบหน้า "แลนด์บริดจ์" ศึกษาเทียบเคียงท่าเรือทั่วโลก หาแนวทางสร้างรายได้เพิ่มจากอุตฯ โลจิสติกส์และธุรกิจต่อเนื่อง กำชับ สนข.รับฟังความเห็นประชาชน ศึกษามาตรการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน ครั้งที่ 1/2565 เพื่อติดตามผลการดำเนินการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 เวลา 13.30 น. และวันที่ 27 มกราคม 2565 เวลา 14.30 น. โดยมีผู้บริหารกระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในแผนการดำเนินการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์นั้น จะต้องมีการศึกษาตัวเลขเศรษฐกิจด้านต่างๆ เกณฑ์การพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุน รวมถึงรายละเอียดของค่าก่อสร้างให้มีความชัดเจน เนื่องจากโครงการนี้มีผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ซึ่งจากการศึกษาเทียบเคียงท่าเรือทั่วโลกที่มีการรองรับปริมาณสินค้าเทียบเท่าท่าเรือโครงการแลนด์บริดจ์ในประเทศไทย พบว่าโครงการสามารถสร้างรายได้จากการบริหารท่าเรือ การเติมน้ำมันทางทะเล และกิจกรรมการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จากการเป็นท่าเรือขนถ่าย หรือ Transshipment และการประมาณการรายได้รวมของอุตสาหกรรมที่จะพัฒนาในพื้นที่ ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอนาคต (Mega Trend) อุตสาหกรรมฮาลาล อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เช่น อาหารทะเล ผลไม้ ยางพาราและปาล์มน้ำมันขั้นสูง รวมถึงอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรม Cold Chain การจัดเก็บและกระจายสินค้า เป็นต้น

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ตนได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข. ) พิจารณาแผนแม่บทการพัฒนาโครงการในระยะยาว เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้เต็มศักยภาพ เช่น อาจจะมองว่าแลนด์บริดจ์ในระยะแรกจะเป็นเส้นทางเลือกในการขนส่งสินค้าทางทะเล แต่เมื่อมีการพัฒนาเต็มศักยภาพแล้วจะเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าในภูมิภาค โดยให้พิจารณาต้นแบบจากท่าเรือในต่างประเทศที่ประสบผลสำเร็จ

พร้อมกันนี้ ให้ สนข.และบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องศึกษาออกแบบการพัฒนาโครงการต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงเน้นเรื่องการศึกษามาตรการป้องกันผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน และวิถีชีวิตให้รอบด้าน

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการสร้างความรับรู้ให้ภาคประชาชนและภาคสังคมเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาในการปฏิบัติ รวมถึงให้ดำเนินการในประเด็นที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน โดยเฉพาะด้านกฎหมาย โดยจะต้องประสานข้อมูลไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนต่อไป


รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน (Landbridge) ระยะเวลาศึกษา 30 เดือน คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2566 ภายใต้แนวคิดการพัฒนาสร้างท่าเรือชุมพรที่อยู่ฝั่งอ่าวไทย กำหนดให้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ทันสมัย โดยนำระบบออโตเมชันมาใช้เพื่อยกระดับท่าเรือสู่ Smart Port ส่วนแนวคิดการพัฒนาท่าเรือระนอง กำหนดให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์และเป็นประตูการค้าฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือกลุ่มประเทศแถบเอเชียใต้

โดยโครงการจะบูรณาการการขนส่งทางท่อ ทางบก และทางราง เพื่อให้เชื่อมต่อกับ 2 ท่าเรืออย่างไร้รอยต่อ โดยศึกษาความเหมาะสมเพื่อพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รถไฟทางคู่ และการขนส่งทางท่อ ก่อสร้างคู่ขนานบนเส้นทางเดียวกันเพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของประชาชน






กำลังโหลดความคิดเห็น