xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นไม่ได้ไปต่อ! ส.อ.ท.กาง 4 แผนเร่งอุ้มชิ้นส่วนยานยนต์ฯ 2,500 รายรับมือ EV

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ส.อ.ท.จัดทำ 4 แผนงานเพื่อให้ผู้ประกอบการ 2,500 รายได้ไปต่อรับการเปลี่ยนเครื่องยนต์สันดาปฯ สู่ “EV” คาดผู้ผลิตส่อหายทันที 700-800 รายแนวโน้มไปต่อยาก เหตุ EV มีชิ้นส่วนหลักต่ำ ย้ำระยะแรกรัฐควรส่งเสริมรถใหญ่และรถสาธารณะ

 นายพินัย ศิรินคร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มฯ ได้เตรียมแผนสำหรับการปรับตัวให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ไทยที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2,500 รายในการรองรับการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ปัจจุบันเป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมี 4 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 1. การปรับธุรกิจไปสู่ตลาดอาฟเตอร์มาร์เกตหรือรูปแบบสินค้าทดแทน โดยเฉพาะอุปกรณ์ตกแต่งรถที่ทั่วโลกยังมีความต้องการมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบการเข้ามาของ EV 
2. ปรับเปลี่ยนการผลิตชิ้นส่วนฯ เพื่อรองรับ EV ที่ความต้องการในเมืองไทยจะมีปริมาณมากขึ้นตามความต้องการใช้ที่จะสูงจากมาตรการกระตุ้นของรัฐ 3. การพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ เพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 เช่น แขนกล อุปกรณ์อัตโนมัติ ที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องก้าวไปสู่ระบบอัตโนมัติมากขึ้น และ 4. การปรับไปสู่ธุรกิจอื่นๆ แทนเพราะไม่สามารถดำรงอยู่ในธุรกิจเดิมได้

“ส่วนใหญ่ผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ เป็นการรับจ้างผลิต (OEM) การมาของ EV ยอมรับว่าจะกระทบเราคงจะผลักดันในการนำไปสู่การปรับตัว โดยจะมีการเสนองบวิจัยและพัฒนาในระยะต่อไปเพื่อวิเคราะห์ลงลึกมากขึ้นว่าแต่ละกลุ่มควรจะปรับไปสู่ชิ้นส่วนไหน หรือไปต่อไม่ได้เลยต้องหันไปทำธุรกิจอื่นๆ แทน โดยผมจะส่งผ่านเรื่องดังกล่าวให้ประธานกลุ่มชิ้นส่วนฯ  ส.อ.ท.คนใหม่ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 15 ก.พ.นี้ในการขับเคลื่อนไปสู่แนวทางช่วยเหลือต่อไป” นายพินัยกล่าว
 
ทั้งนี้ ยอมรับว่าการเข้ามาของ EV แม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีการกำหนดให้ผู้ผลิตต้องใช้ชิ้นส่วนในประเทศทั้งหมด การผลิตชิ้นส่วนก็ยังต้องหายไปค่อนข้างมากเพราะเครื่องยนต์สันดาปมีชิ้นส่วน 2-3 หมื่นชิ้น แต่ EV จะเหลือชิ้นส่วนไม่มาก คาดว่าจะกระทบผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนฯ ต้องหายไปอย่างต่ำ 700-800 รายจาก 2,500 รายในเบื้องต้น จึงต้องดำเนินการศึกษาเพื่อเร่งเข้าช่วยเหลือให้ได้รับผลกระทบน้อยสุดเท่าที่จะทำได้
 
นายพินัยกล่าวว่า การมาของ EV คงต้องติดตามใกล้ชิดว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมากน้อยเพียงใดด้วยเพราะปัจจุบันผู้เล่นหลักคือ ญี่ปุ่น แต่การมา EV ล่าสุดแนวโน้มจะเป็นจีน ซึ่งจีนเองก็มีผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ จึงต้องดูว่าท้ายสุดนโยบายรัฐในการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วน EV จะมีมากน้อยเพียงใดประกอบด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การที่รัฐเตรียมออกแพกเกจเพื่อส่งเสริมการใช้ EV เห็นว่าภาครัฐควรปล่อยให้เป็นตามกลไกการตลาดมากกว่าเพราะหากเร่งให้เร็วเกินไปอาจกระทบต่อภาพรวมได้
 
"ผมมองว่าโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เรายังไม่ได้รองรับมาก หากต้องการผลักดัน EV เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องเข้าใจว่าที่สุดแล้วก็จะลดแค่ตรงรถยนต์แต่กลับไปเพิ่มใช้ไฟฟ้าที่มาจากฟอสซิลเพิ่ม ดังนั้นต้องมองให้ครบวงจร รัฐควรจะมุ่งส่งเสริมการใช้ไปยังรถบัส รถขนาดใหญ่ ระบบขนส่งสาธารณะก่อนเพื่อปรับให้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ พร้อมก่อนที่จะมามุ่งกระตุ้นการใช้ในรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะต้องใช้เงินรัฐในการสนับสนุนให้ลดราคาลงมา" นายพินัยกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น