สนข.รับฟังความเห็นภาครัฐและเอกชนเดินหน้าปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ...ตั้งเป้าเสนอ ครม.ใน มิ.ย. 65 คาดกฤษฎีกาตรวจร่างเสนอรัฐสภาประกาศใช้ปลายปี 65 วาง 7 หมวด 58 มาตรา สร้างกลไกกฎหมาย และมาตรฐานบริการระบบขนส่งสาธารณะ ตั้งกองทุนหนุนส่วนต่างลดค่าใช้จ่ายเดินทางข้ามระบบ
นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ “ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ….” โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการภาคเอกชน นักวิชาการ และองค์กรอิสระ เข้าร่วม วันที่ 20 ม.ค. 2565 ว่า การจัดทำระบบตั๋วร่วมเป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และต้องการให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทาง มุ่งเน้นการพัฒนาเพิ่มศักยภาพของระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นการอำนวยประโยชน์ทั้งแก่ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และทำให้ประชาชนประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ทั้งนี้ การจัดทำระบบตั๋วร่วมต้องอาศัยกลไกด้านกฎหมายในการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงาน และขอบเขตความร่วมมือการให้บริการ การมอบอำนาจหน้าที่ และกำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ การดำเนินงานที่มีความชัดเจน รวมถึงการจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ระบบตั๋วร่วมและระบบขนส่งในประเทศไทย
สนข.ได้จัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนไปแล้ว 4 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 หัวข้อ “โครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมที่เหมาะสม” ครั้งที่ 2 หัวข้อ “แนวทางการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมทางการเงินในระบบตั๋วร่วมที่เหมาะสม” ครั้งที่ 3 หัวข้อ “ความต้องการทางฟังก์ชัน (Functional Requirement) ของระบบตั๋วร่วม” และครั้งที่ 4 หัวข้อ “แนวทางการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย” เพื่อนำความคิดเห็นไปปรับปรุงผลการศึกษา การปรับปรุงร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม
นอกจากนี้ ได้ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเปิดรับฟังความเห็นของประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้อง ผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย https://www.law.go.th/law.go.th ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 2565 ถึงวันที่ 4 ก.พ. 2565 ระยะเวลา 16 วัน เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือน มิ.ย. 2565 เสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเสร็จใน ก.ย. 2565 เสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา ช่วงปลายปี 2565 คาดว่าประกาศในราชกิจจานุเบกษาในปี 2565
สำหรับ “ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ... แบ่งออกเป็น 7 หมวด ได้แก่ หมวด 1 คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) มีรมว.คมนาคมเป็นประธาน ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นรองประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่งจากหน่วนงานที่เกี่ยวข้อง 12 คน และให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่ง รมต.แต่งตั้งอีกไม่เกิน 4 คน มี ผอ.สนข.เป็นเลขานุการ มีอำนาจกำหนดนโยบายการบริหารจัดการ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราค่าโดยสารร่วมและกำหนดค่าโดยสารร่วม และอัตราการส่งเงินเข้ากองทุน เป็นต้น
หมวด 2 การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม กำหนดให้ผู้ประสงค์ประกอบกิจการระบบตั๋วร่วมต้องได้รับใบอนุญาตจาก คนต. หมวด 3 การดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม หมวด 4 อัตราค่าโดยสาร หมวด 5 กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม หมวด 6 การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต หมวด 7 บทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล รวมทั้งหมด 58 มาตรา
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ครม.เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2563 ได้เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและมีความเห็นว่าร่างระเบียบสำนักนายกฯ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11(8) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มีข้อจำกัด คือ บังคับได้เพียงหน่วยงานของรัฐ และกรณีการจัดตั้งกองทุนสามารถทำได้โดย พ.ร.บ.เท่านั้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม
นอกจากนี้ กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมมีความจำเป็น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน การพัฒนา นำมาส่งเสริมและอุดหนุนประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมที่มีต้นทุนที่เหมาะสม รวมถึงสนับสนุนผู้ให้บริการที่เข้าร่วมระบบตั๋วร่วมที่ได้รับผลกระทบ ส่วนแหล่งเงินเข้ากองทุน ได้แก่ เงินประเดิมที่รัฐบาลจัดสรร, เงินอุดหนุนจากงบประมาณประจำปี, รายได้จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต, หักรายได้จากการประกอบกิจการตั๋วร่วม รวมไปถึงรายได้ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และเงินเพิ่มที่กฎหมายกำหนด รายได้จากการกันเงินภาษี หรือจากเงินทุนหมุนเวียนอื่น เป็นต้น ซึ่งจะมีการรับฟังความเห็นเพื่อสรุปความชัดเจนต่อไป