xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าท่าแจงเรือแสนแสบขึ้นราคา 1 บาทได้ตามประกาศ ช่วยตรึง 2 ปีขาดทุน 3-5 ล้านทุกเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจ้าท่าวอนประชาชนเข้าใจ เรือแสนแสบขึ้นค่าโดยสาร 1 บาทเป็นไปตามประกาศปี 63 เผยเอกชนตรึงราคากว่า 2 ปีจนขาดทุนอ่วม 3-5 ล้านบาททุกเดือน แบกต่อไม่ไหว ชี้ปรับจาก 8 บาทเป็น 9 บาท เทียบช่วงราคาน้ำมันเกิน 29 บาท/ลิตร ค่าโดยสารเริ่มต้น 11 บาท

วันที่ 11 ม.ค. 2565 นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ด้านปลอดภัย เปิดเผยว่า กรณีเรือคลองแสนแสบปรับขึ้นค่าโดยสารระยะละ 1 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2565 นั้น ในเรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสารนั้น ในสถานการณ์ปกติ กรมเจ้าท่า จะมีประกาศคณะกรรมการเรือประจำทาง ปี 2559 กำหนดให้ค่าโดยสารสามารถปรับขึ้นลงตามอัตราราคาน้ำมันในแต่ละช่วง ซึ่งในเดือนมีนาคม 2563 ราคาน้ำมันอยู่ที่ 24 บาท/ลิตร จึงกำหนดอัตราค่าโดยสารของเส้นทางคลองแสนแสบ เริ่มต้นที่ 8 บาท แต่ด้วยสถานการณ์ในช่วงโควิด-19 ระบาด รัฐบาลขอความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติงานอยู่ที่บ้านและขอความร่วมมือลดการเดินทางโดยไม่จำเป็น ส่งผลให้ยอดผู้โดยสารเรือคลองแสนแสบลดลงอย่างมาก เหลือเพียง 10% ต่อวัน ทำให้การเดินเรือประจำทางประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักและไม่สามารถเดินเรือได้ตามปกติ

ซึ่งจากกรณีดังกล่าว บริษัทครอบครัวขนส่ง จำกัด ผู้ดูแลการให้บริการเรือคลองแสนแสบ ได้ประสานและขออนุญาตกรมเจ้าท่าปรับขึ้นราคาจากเดิมเริ่มต้นที่ 8 บาท ปรับเป็นเริ่มต้นที่ 9 บาท ในวันที่ 14 ม.ค. 2565 จึงเป็นไปตามประกาศกรมเจ้าท่าที่ 68/2563 เรื่อง กำหนดอัตราค่าโดยสารเรือกลประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นการเฉพาะและชั่วคราวตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้คิดค่าโดยสารในระดับราคาน้ำมันดีเซลที่ 25 บาท/ลิตร

โดยก่อนหน้านี้บริษัท ครอบครัวขนส่ง จำกัด ให้ความร่วมมือไม่ปรับขึ้นค่าโดยสารเพื่อช่วยลดภาระของผู้โดยสาร แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นเกินกว่าลิตรละ 25 บาท และตามเกณฑ์กรอบอัตราค่าโดยสารที่กรมเจ้าท่าได้กำหนดไว้ จึงสามารถจัดเก็บ ได้ที่ 9 บาท เป็นราคาที่สอดคล้องตรงกับประกาศกรมเจ้าท่าที่ 68/2563

ทั้งนี้ การเก็บค่าบริการเริ่มต้นเพิ่มอีก 1 บาทจะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถเดินเรือประจำทางได้ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ และกรมเจ้าท่าจะพยายามหาแนวทางในการแก้ไขปัญหากับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด และหากสถานการณ์ปรับเปลี่ยนหรือราคาน้ำมันปรับลดลง จะให้ผู้ประกอบการปรับลดอัตราค่าโดยสารลง เพื่อให้กระทบประชาชนที่เดินทางสัญจรทางน้ำน้อยที่สุด

"ที่ผ่านมาเรือแสนแสบให้ความร่วมมือกับกรมเจ้าท่าและรัฐบาลในการเก็บค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 8 บาท ซึ่งต่ำกว่าประกาศประกาศกรมเจ้าท่าที่ 68/2563 ที่สามารถเก็บได้ 9 บาท หรือคิดค่าโดยสารในระดับราคาน้ำมันที่ 25 บาท/ลิตรเท่านั้น เพื่อช่วยลดภาระประชาชน ตรึงราคามา เป็นเวลากว่า 600 วันแล้ว แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันเกิน 29 บาท/ลิตรแล้ว ซึ่งบริษัท ต้องขาดทุน 3-5 ล้านบาท/เดือนมาตลอด เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงจากปกติที่มี 50,000 คน/วัน ตั้งแต่เกิดโควิดผู้โดยสารลดลงอย่างมากเหลือวันละ 1,000-2,000 คน ล่าสุดเริ่มดีขึ้นเฉลี่ยมาอยู่ที่กว่า 9,000 คนแต่ก็ยังลดลงจากปกติ ถึง 5 เท่า ขณะที่ผู้โดยสารเรือโดยสารรวมทั้งระบบเหลืออยู่ประมาณ 20%"

นายภูริพัฒน์กล่าวว่า ตามประกาศตารางช่วงราคาน้ำมัน และการกำหนดอัตราค่าโดยสารไว้ 5 ช่วง ดังนี้ 1. น้ำมันดีเซล 17-21 บาท/ลิตร กำหนดค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 7-17 บาท ตามระยะทาง 2. น้ำมันดีเซลที่ 21-25 บาท/ลิตร กำหนดค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 8-18 บาท ตามระยะทาง 3. น้ำมันดีเซลที่ 25-27 บาท/ลิตร กำหนดค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 9-19 บาท ตามระยะทาง 4. น้ำมันดีเซลที่ 27-29 บาท/ลิตร กำหนดค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 10-20 บาท ตามระยะทาง 5. น้ำมันดีเซลที่ 29-31 บาท/ลิตร กำหนดค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 11-21 บาท ตามระยะทาง

ดังนั้นหากยึดตามประกาศช่วงราคาน้ำมัน สามารถจัดเก็บค่าโดยสารในกรอบตารางช่วงที่ 5 เริ่มต้นที่ 11-21 บาท แต่ตามภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ จึงให้ความร่วมมือเพื่อให้มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด โดยกรมเจ้าท่าคาดหวังว่าราคาน้ำมันดีเซล คงจะไม่เพิ่มขึ้นไปกว่านี้มากนัก และเชื่อว่าทางเอกชนคงเข้าใจในแง่ของการบริการขนส่งสาธารณะที่อาจจะไม่สามารถมีกำไรได้มากนัก โดยกรมเจ้าท่าจะพยายามเจรจากับเอกชนตลอด

สำหรับเรือด่วนเจ้าพระยา เรือข้ามฟาก มีการเก็บค่าโดยสารตามประกาศกรมเจ้าท่าที่ 68/2563 ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเก็บค่าโดยสารในช่วงราคาน้ำมันที่ 25-29 บาท/ลิตร โดยเรือด่วนเจ้าพระยาเก็บค่าโดยสารที่ 9-13 บาทตามระยะทาง ขณะที่ปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในช่วง 29-31 บาท ค่าโดยสาร 11-21 บาทตามระยะทาง แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดจึงทำให้เกิดผลกระทบทั้งทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงไปด้วย ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปรับการให้บริการ เพิ่มความถี่ เพื่อลดความแออัด

อย่างไรก็ตาม ในการกำกับดูแลบริการขนส่งสาธารณะนั้น นอกจากดูแลอัตราค่าโดยสารไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนแล้ว ในแง่ของผู้ประกอบการจะต้องสามารถให้บริการต่อไปได้ด้วย กรมเจ้าท่าซึ่งเป็นหน่วยงานราชการต้องสร้างความสมดุล ทั้ง 2 ด้าน ตามกฎหมายที่ให้อำนาจ เพื่อความเรียบร้อยและปลอดภัยให้ประชาชน จึงไม่เหมือนหน่วยงานที่กำกับดูแลรถไฟฟ้าที่เป็นรัฐวิสาหกิจ

นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.)  ด้านปลอดภัย




กำลังโหลดความคิดเห็น