กรมทางหลวงชนบทติดตั้งเครื่องปล่อยละอองน้ำ 13 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดักจับฝุ่นขนาดเล็ก พร้อมคุมเข้มค่าไอเสียเครื่องจักรกลและยานพาหนะ บรรเทาปัญหามลภาวะ PM 2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเร่งบรรเทาปัญหามลภาวะทางอากาศหรือฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อย่างต่อเนื่องนั้น ทช.ได้คำนึงถึงความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อควบคุมค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ให้เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่จะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม จึงได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องปล่อยละอองน้ำแรงดันสูง (High Pressure Water System) ซึ่งจะปล่อยละอองน้ำขนาดเล็กดักจับไอร้อนและฝุ่นที่อยู่ในอากาศ สามารถช่วยลดความร้อนและฝุ่นควันได้จำนวน 13 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2, สะพานพระพุทธยอดฟ้า, สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า, สะพานกรุงธน, สะพานพระราม 7, สะพานพระราม 5, สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์, ถนนราชพฤกษ์ช่วงสะพานต่างระดับสวนเลียบ, ถนนราชพฤกษ์ ช่วง กม.ที่ 15+050, วงเวียนถนนราชพฤกษ์ตัดถนนนครอินทร์, สะพานกรุงเทพ, สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสะพานพระราม 4
นอกจากนี้ ทช.ได้มีมาตรการให้ดำเนินการตรวจวัดค่าไอเสียของเครื่องจักรกลและยานพาหนะที่ใช้ปฏิบัติงาน ณ อาคารโรงซ่อมเครื่องจักรกล สำนักเครื่องกลและสื่อสาร อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยใช้เครื่องมือวัดค่าควันดำ “ระบบวัดความทึบแสง” ซึ่งค่าที่วัดได้ต้องไม่เกินร้อยละ 45 และจากการตรวจสอบพบว่าเครื่องจักรกลและยานพาหนะผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานทั้งหมด โดยกรณีเครื่องจักรกลหรือยานพาหนะชนิดใดมีค่าไอเสียเกินกว่ามาตรฐานกำหนด ให้หยุดใช้งานและเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามมาตรการของ ทช.ต่อไป
ทั้งนี้ ยังได้มีมาตรการป้องกันและลดฝุ่นละอองในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เช่น การฉีดพรมน้ำ การทำความสะอาดล้อรถที่ เข้า-ออกบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง การกวาดล้างถนนที่เปื้อนดินจากการก่อสร้าง มีการปิดคลุมวัสดุก่อสร้างในพื้นที่และวัสดุที่ต้องขนย้าย ไปจนถึงการจัดการขยะอย่างเหมาะสมโดยไม่ใช้วิธีการเผา โดยได้ขอความร่วมมือหน่วยงานในส่วนภูมิภาคเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่รับผิดชอบ และเน้นย้ำให้ดำเนินการตามแนวทางการลดมลภาวะทางอากาศของกรมฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างเป็นรูปธรรม