“จุรินทร์” หารืออุปทูตสหรัฐฯ ยันสนับสนุนนโยบาย BCG ของไทย พร้อมแจ้งไฟเขียวไทยส่งออกส้มโอได้แล้ว และแย้มมีอีกหลายยี่ห้อที่จะมาลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า ด้านไทยขอปลดจากบัญชี WL เร่งประชุม TIFA ร่วมมือการค้า การลงทุน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังนายไมเคิล ฮีธ อุปทูตสหรัฐฯ รักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ ว่า รักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้กล่าวชื่นชมรัฐบาลไทย และกระทรวงพาณิชย์ ที่สามารถดูแลห่วงโซ่การผลิต และเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาให้สามารถดำเนินการไปได้อย่างดีและมีความต่อเนื่อง แม้จะเผชิญสถานการณ์โควิด-19 โดยยืนยันสนับสนุน BCG โมเดล (Bio-Circular-Green Economy Model) ของไทย โดยเฉพาะในช่วงการประชุมเอเปกที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2565 พร้อมขอบคุณไทยที่ช่วยสนับสนุนพัฒนาและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ โดยเฉพาะบทบาทของไทยในการให้ความรู้ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นแกนหลัก
ทั้งนี้ ยังมีข่าวดีสำหรับเกษตรกรไทย โดยสหรัฐฯ ได้อนุญาตให้ส้มโอจากไทยสามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้แล้วตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา และยังแจ้งว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อการลงทุนเรื่องการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยในอนาคตมีอีกหลายยี่ห้อที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ฟอร์ด ได้เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว มูลค่า 950 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
นายจุรินทร์กล่าวว่า ในส่วนของไทย ได้แจ้งสหรัฐฯ จำนวน 3 ประเด็นสำคัญ โดยประเด็นที่ 1 ไทยให้ความสำคัญต่อการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบผสมผสาน โดยเฉพาะการใช้ BCG Model ในการขับเคลื่อน โดยไทยจะชู BCG Model ในการประชุมเอเปกที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพปีหน้า ประเด็นที่ 2 เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ไทยแจ้งว่าได้จับมือกับสำนักผู้แทนการค้าแห่งสหรัฐฯ (USTR) ขับเคลื่อนแผนดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกันเป็นระยะเวลายาวนานและมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมในการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งการปกป้องและการบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสหรัฐฯ ได้ปลดไทยจากบัญชีจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) เป็นจับตามอง (WL) และขอให้ท่านทูตประสานไปยัง USTR ให้ปลดไทยจากบัญชี WL ต่อไป ซึ่งจะมีการพิจารณาเร็วๆ นี้ และประเด็นที่ 3 ไทยและสหรัฐฯ เห็นว่าสองฝ่ายสามารถหารือเพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนในเชิงลึกระหว่างกันได้ ผ่านเวที TIFFA ซึ่งไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และได้แจ้งว่าอยากเห็นสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพการประชุมในปีหน้า เพื่อส่งเสริมมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันต่อไป
สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย รองจากจีน และญี่ปุ่น มูลค่าการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ เฉลี่ยปีละประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 10 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 34,137 ล้านเหรียญสหรัฐ (1.066 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 20.05% โดยไทยได้ดุลการค้ามูลค่า 22,270 ล้านเหรียญสหรัฐ (691,247 ล้านบาท) ได้ดุลเพิ่มขึ้น 43.36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน