xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.จัดหนัก หัวขโมยตัดสายเคเบิลรถไฟฟ้าสีแดง ลุยสาวถึงแหล่งรับซื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การรถไฟฯ เร่งขยายผลการจับกุมดำเนินคดีขโมยลักลอบตัดสายใยแก้วนำแสงรถไฟฟ้าสายสีแดง และขยายไปยังผู้รับซื้อของกลาง ยืนยันไม่กระทบความปลอดภัยการเดินรถ

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า จากกรณีมีผู้ก่อเหตุลักลอบตัดสายใยแก้วนำแสงรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้น ในประเด็นดังกล่าว การรถไฟฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้สั่งการให้ประสานความร่วมมือกับกองบังคับการตำรวจรถไฟเพื่อขยายผลการจับกุมผู้ต้องหา เพราะถือเป็นพฤติกรรมอุกอาจในการทำลายทรัพย์สินของราชการ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนรวม พร้อมทั้งให้เร่งดำเนินคดีให้ถึงที่สุดทั้งทางแพ่งและอาญา โดยที่ผ่านมาสามารถจับกุมได้จำนวนทั้งสิ้น 4 ครั้ง ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายผลและการเฝ้าระวังใกล้ชิด และล่าสุดอยู่ระหว่างการขยายผลกับร้านค้าที่ทำการรับซื้อของดังกล่าว

ทั้งนี้ การจับกุมล่าสุดภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ ในการร่วมกันขยายผลการจับกุม ทำให้สามารถทำการจับกุมผู้ต้องหาได้อีก 1 คน โดยได้ดำเนินคดีผู้ต้องหาในข้อหา “ร่วมกันลักทรัพย์ที่ใช้ หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือรับของโจร ซึ่งได้นำตัวส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย


ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการลักลอบทำลายทรัพย์สินของการรถไฟฯ ได้แก่ พ.ร.บ.จัดวางทางรถไฟและทางหลวง พ.ศ. 2464 มาตรา 84 ได้ระบุผู้ใดที่เข้าไปในที่ดินรถไฟนอกเขตที่อนุญาตให้ประชาชนเข้าออก ถือว่ามีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น 1 และมาตรา 87 ระบุไว้ว่า ผู้ใดทำให้รถ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรหรือสิ่งใดๆ อันเป็นทรัพย์สินของรถไฟเสียหายหรือชำรุด มีความผิดฐานลหุโทษต้องระวางโทษชั้น 1

นอกจากนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ระบุว่า ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์เขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


อย่างไรก็ดี ขอย้ำว่าขอให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นใจในความปลอดภัยถึงการใช้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง เนื่องจากการตัดชุดสายเคเบิลดังกล่าว เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับระบบจ่ายไฟฟ้าสำหรับป้องกันอันตรายการบำรุงรักษาของพนักงานที่ลงไปทำงานในเส้นทางรถไฟฟ้าเท่านั้น ไม่ได้ส่งต่อการเดินรถหรือกระทบต่อความปลอดภัยในการให้บริการแก่ผู้โดยสารภายในขบวนแต่อย่างใด

ที่สำคัญ การรถไฟฯ ยังมีการใช้ช่างบำรุงรักษาของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลบำรุงรักษา ระบบงานกว่า 10 ปีเข้ามาช่วยดูแล เพราะเป็นระบบจ่ายไฟเหนือหัวรูปแบบเดียวกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์
พร้อมยืนยันว่าการรถไฟฯ ได้เพิ่มความเข้มข้นในการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยด้วยการจัดชุดเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวน และสุ่มตรวจในพื้นที่เสี่ยงตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนมีการเสริมแนวรั้วป้องกันเพิ่มเติมในจุดเสี่ยง และติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมเพื่อเสริมมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่




กำลังโหลดความคิดเห็น