มิลล์คอนฯ มั่นใจปี 65 โกยกำไรต่อเนื่องจากไตรมาส 3/64 เหตุแนวโน้มราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการใช้ในตลาดโลกหลังจีนลดการส่งออก พร้อมยก “ซันเทค” เป็นศูนย์กลาง carbon credit “เดอะเมกะวัตต์” รุกพลังงานสะอาดป้อนกลุ่มมิลล์คอน
นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานคณะกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กครบวงจร เปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์ของกลุ่มมิลล์คอนในปี 2565 ว่า บริษัทยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจเหล็ก และต่อยอดไปในธุรกิจที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม-ลดโลกร้อน โดยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง การใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค กระทั่งถึงขั้นตอนการนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งช่วยขับเคลื่อนบริษัทสู่เป้าหมายการเป็น Green Steel ในอนาคต
นอกจากการผลิตเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดปริมาณของเสียแล้ว บริษัทยังมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง การใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค กระทั่งถึงขั้นตอนการนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง
นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทคาดว่าจะมีกำไรสุทธิต่อเนื่องจากไตรมาส 3/2564 ที่บริษัทมีรายได้รวม 2,580 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54 ล้านบาท หรือ 2% ขณะที่มีกำไรสุทธิ 227 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 222 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4,374% เนื่องจากประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับบริษัทมีความพร้อมในการแข่งขัน
นอกจากนี้ แนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจีนที่มีนโยบายปิดโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน และยกเลิกนโยบายคืนภาษีส่งออก (Tax rebate) ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงเพิ่มขึ้น
ส่วนบริษัท ซันเทค รีไซเคิล แอนด์ ดีคาร์บอน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) ก็วางเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ บริษัทต้องการจะเป็นศูนย์กลาง carbon credit ของกลุ่มบริษัทในเครือมิลล์คอน สตีล นอกจากนี้ต้องมองหานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือที่เรียกว่า Decarbonization
อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจเดิมของบริษัทในการบริหารจัดการเศษเหล็ก บริษัทนำเทคโนโลยีของเครื่องจักรมาใช้บริหารจัดการเศษเหล็ก สามารถบดย่อยเศษเหล็กให้มีขนาดเล็กลง ก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการหลอมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเป็นการประหยัดพลังงานในการหลอม (Recycle Process) เหล็กที่ได้จะถูกปรุงแต่งให้มีความบริสุทธิ์ก่อนนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง สำหรับชิ้นส่วนอื่นที่ไม่ใช่เหล็ก เช่น พลาสติก วัสดุยาง ที่ถูกคัดแยกสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงาน ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถลดขยะที่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมตามหลัก Zero waste ได้อย่างมีประสิทธิภาพ