xs
xsm
sm
md
lg

เรือโดยสารไฟฟ้าจ่อเปิดอีก 2 เส้นทาง พร้อมทุ่มกว่า 400 ล้านต่อเรือใหม่ 15 ลำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เรือโดยสารไฟฟ้าเตรียมเปิดบริการอีก 2 เส้นทาง 20 ธ.ค.นี้ เชื่อมสาทร “Metro Line” จากพระราม 7 และ “City Line” จากปิ่นเกล้า ปี 65 ทุ่มกว่า 400 ล้านต่อเรือเล็ก 15 ลำ จัดฟลีตบริการทั้งปี พร้อมเตรียมบุกตลาดเวียดนาม-พม่าต่อยอดธุรกิจ

นาวาโท ปริญญา รักวาทิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทฯ ได้กลับมาให้บริการเรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry ในแม่น้ำเจ้าพระยาเส้นทาง “Urban line” ท่าเรือพระนั่งเกล้า-ท่าเรือสาทร เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2564 โดยมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 100 คน/เที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 75
นาที โดยเก็บค่าโดยสาร โปรโมชัน 20 บาทตลอดสายถึงสิ้นปี 2564 และในเดือน ม.ค. 2565 จะปรับเป็น 30 บาทตลอดสาย เป็นเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งต่ำกว่าอัตราที่กรมเจ้าท่า (จท.) อนุมัติที่ 60 บาทตลอดสาย และในวันที่ 20 ธ.ค.นี้จะเปิดให้บริการอีก 2 เส้นทาง คือ เส้นทาง “Metro Line” จากท่าเรือพระราม 7-ท่าเรือสาทร และเส้นทาง “City Line” จากท่าเรือปิ่นเกล้า-ท่าเรือสาทร โดยเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายไปถึงสิ้นปี 2564 เช่นกัน จากนั้นในเดือน ม.ค. 2565 Metro Line จะปรับเป็น 25 บาทตลอดสาย (กรมเจ้าท่าอนุมัติเพดานสูงสุดไม่เกิน 45 บาท) ส่วน City Line 20 บาทตลอดสาย (เพดานอนุมัติที่ 30 บาทตลอดสาย)

สำหรับปี 2565 บริษัทฯ มีแผนลงทุนกว่า 400 ล้านบาท โดยจะมีการต่อเรือโดยสารไฟฟ้ารุ่นใหม่เพิ่มอีก 15 ลำ (ลำละประมาณ 24 ล้านบาท) เป็นเรือขนาดเล็กลง กว้าง 6 เมตร ยาว 19 เมตร มีความสูงจากพื้นน้ำถึงท้องสะพานประมาณ 4.5 เมตร รองรับผู้โดยสารได้ 150 คน จะแล้วเสร็จในไตรมาส 3/65 เป็นเรือที่สามารถลอดสะพานได้ในช่วงที่แม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูง จะทำให้บริษัทสามารถให้บริการได้ตลอดทั้งปี และเพิ่มความถี่ในการให้บริการได้อีกด้วย

“สาเหตุที่ทำให้ต้องหยุดให้บริการไปเมื่อเดือน ต.ค. 64 เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูง โดยเฉพาะบริเวณสะพานซังฮี้ทำให้เรือโดยสารไม่สามารถลอดผ่านได้ จึงต้องต่อเรือที่เล็กลงและทำให้มีเรือรวม 38 ลำ (เรือใหญ่ 23 ลำ เรือเล็ก15 ลำ)”

ขณะที่ปัจจุบันรถไฟฟ้ามีจุดเชื่อมต่อกับท่าเรือ 4 จุด ได้แก่ สายสีม่วง เชื่อมที่ท่าเรือพระนั่งเกล้า, สายสีน้ำเงิน เชื่อมกับท่าเรือบางโพ และท่าเรือราชินี, สายสีเขียว เชื่อมที่ท่าเรือสาทร และในอนาคต สายสีส้มจะเชื่อมได้ที่ท่าเรือศิริราช, ท่าราชวงศ์ ซึ่งหากดูการเติบโตของผู้ใช้บริการท่าเรือสาทรเดิมมีประมาณ
1,000 คน/วัน แต่เมื่อมีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผู้ใช้บริการเพิ่มเป็นกว่า 20,000 คน/วัน เชื่อว่าการคมนาคมทางน้ำจะช่วยกระจายประชาชนเชื่อมกับรถไฟฟ้าได้ตลอดแนว

ซึ่งก่อนเกิดโควิด ในแม่น้ำเจ้าพระยามีผู้โดยสารรวมประมาณ 40,000 คน/วัน มีสัดส่วนการเดินทางระหว่างคนไทยประมาณ 30,000-32,000 คน หรือ 80% เป็นนักท่องเที่ยว ประมาณ 10,000 คน หรือ 20% แต่ปัจจุบันการเดินทางยังไม่ฟื้น

อย่างไรก็ตาม มีการพิจารณาขยายเส้นทางในอนาคตไปทางด้านเหนือ ต่อจากท่าเรือพระนั่งเกล้า ออกไปทางนนทบุรี ปากเกร็ด ถึงบริเวณท่าเรือริเวอร์เดล มารีน่า จ.ปทุมธานี เพราะมีที่พักอาศัยมาก โดยใช้เวลาจากท่าเรือพระนั่งเกล้า-ท่าเรือริเวอร์เดลประมาณ 30 นาที จึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกในการเดินทางเข้าเมือง คาดว่าจะชัดเจนภายใน 2 ปี

@บุกตลาด “เวียดนาม-พม่า” ต่อยอดธุรกิจ ร่วมทุนเดินเรือไฟฟ้า

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการเปิดตลาดในต่างประเทศ สำหรับเรือโดยสารไฟฟ้า ซึ่งมีการหารือกับผู้ประกอบการเรือโดยสารในแม่น้ำไซง่อน ประเทศเวียดนาม และแม่น้ำอิรวดีประเทศเมียนมา รูปแบบทั้ง เพื่อเข้าไปสนับสนุนเรือโดยสารไฟฟ้าหรือร่วมลงทุนให้บริการเดินเรือ

บริษัทได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากสถาบันการเงินต่างประเทศ ที่ให้ความสำคัญต่อการลดมลพิษสิ่งแวดล้อม และได้รับการสนับสนุนด้านบีโอไอและภาษีจากรัฐบาลไทย และในภาพรวมจะนำไปเคลมในเรื่องคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย ขณะที่นโยบายหลักของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ การให้บริการเรือโดยสารไฟฟ้าเป็นเพื่อให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะแก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยได้ใช้บริการจึงเก็บค่าโดยสารที่ค่อนข้างต่ำ และหากมีประชาชนหันมาใช้บริการมากๆ จะช่วยลดปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อม โดยพยายามลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น