“สินิตย์”สั่งเดินหน้าโครงการโคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA ช่วยเกษตรกรนมโคและผู้ประกอบการสินค้านม ขยายตลาดต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จาก FTA เน้นตลาดจีนและอาเซียน “อรมน”เผยปีนี้จัดเป็นปีที่ 4 คัดผู้ประกอบการเหลือ 5 ราย นำติวเข้ม ก่อนพาบุกตลาดจีน
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA” ที่กระทรวงพาณิชย์ ว่า ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดทำโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมการตลาดให้เกษตรกร สหกรณ์โคนม และผู้ประกอบการนมโคแปรรูปของไทย ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ลดภาษีนำเข้าสินค้านมโคและนมโคแปรรูปให้ไทยเหลือ 0% แล้ว ในการทำตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดอาเซียนและจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสสูง
“การช่วยหาตลาดให้เกษตรกรนมโคและผู้ประกอบการสินค้านมของไทย เป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น เพราะสินค้านม เป็นหนึ่งในสินค้าที่ไทยต้องเตรียมความพร้อมรับการแข่งขันในตลาดโลกที่เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยโครงการนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้านม ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับการแข่งขัน แต่ยังช่วยสร้างโอกาสในการออกไปทำตลาดต่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จาก FTA ด้วย” นายสินิตย์กล่าว
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า โครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA” จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ซึ่งปีนี้ ได้พัฒนารูปแบบการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 มากขึ้น โดยได้จัดอบรมบูธแคมป์ติวเข้มเรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ผ่านมาตรฐานส่งออกของไทยและต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการโคนมที่ผ่านการคัดเลือก 5 ราย จะได้เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าจีน และทำ Live Sale จำหน่ายผลิตภัณฑ์บนแพล็ตฟอร์มเถาเป่าของจีนด้วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดประกวดนำเสนอแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และวิสัยทัศน์ และคณะกรรมการได้คัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ 5 ราย ได้แก่ 1.บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด 2.บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด 3.บริษัท บุณยเกียรติ ไอศกรีม จำกัด 4.บริษัท แมรี่ แอน แดรี่โปรดักส์ จำกัด และ 5.สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด โดยคณะกรรมการคัดเลือกผู้ประกอบการพิจารณาจากหลักเกณฑ์ เช่น เป็นผู้ที่กระบวนการผลิตได้รับมาตรฐานการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงาน GACC ของจีน และได้รับมาตรฐาน ESTจากกรมปศุสัตว์ ที่พร้อมส่งออกไปตลาดจีน มีการใช้วัตถุดิบน้ำนมจากเกษตรกรภายในประเทศ มีความพร้อมส่งออกไปตลาดจีน มีการใช้นวัตกรรมในการผลิตที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดจีนได้ รวมทั้งมีแผนธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จาก FTA ในการส่งออก และมีการวางแผนกลยุทธ์การทำตลาดออนไลน์และออฟไลน์ โดยหลังจากนี้ กรมฯ จะนำผู้ประกอบการทั้ง 5 ราย เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ในวันที่ 25 ม.ค.2565 ซึ่งคาดว่าจะสร้างยอดขายไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท
ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ในช่วง 10 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมสู่ตลาดโลก มูลค่า 486.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.6% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน มูลค่า 407.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 2.6% ฮ่องกง มูลค่า 21.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 13.2% จีน มูลค่า 20.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 2.0% และกานา มูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 40.8% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ นมเปรี้ยว โยเกิร์ต และนม UHT เป็นต้น