GPSC ทุ่มงบ 2,217 ล้านสร้าง “โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ” ร่วม อบจ.ระยองรับขยะชุมชนทำเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า หวังช่วยลดปริมาณฝังกลบสิ่งปฏิกูล พร้อมตอบสนองการเติบโตภาคอุตสาหกรรม EEC
นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมด้านธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท.อย่าง GPSC ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก สำหรับ “โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ” (Refuse Derived Fuel (RDF) Power Plant) ที่ได้เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ซึ่งนับว่าเป็นโครงการต้นแบบเพื่อการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจรแห่งแรกในพื้นที่ จ.ระยอง
นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะแห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร จ.ระยอง เพื่อรับเชื้อเพลิง RDF มาผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นการต่อยอดการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพจากความร่วมมือระหว่าง GPSC กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) ซึ่งเป็นผู้จัดการขยะจากชุมชน ครอบคลุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใน จ.ระยอง จำนวน 67 แห่ง ในการป้อนขยะชุมชนเข้าสู่โรงงานผลิต RDF ด้วยกำลังการผลิตที่ GPSC สามารถนำมาคัดแยกขยะในปริมาณ 500 ตัน/วัน หรือ 170,000 ตัน/ปี จากปริมาณขยะชุมชนในจังหวัดระยองที่มีอยู่ประมาณ 1,000-1,200 ตัน/วัน และมาคัด เมื่อนำมาแยกขยะแล้วเหลือเป็นเชื้อเพลิง RDF ในปริมาณประมาณ 160 ตัน/วัน แต่ก็เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า
สำหรับกระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ เริ่มจากการรับขยะชุมชนเข้าสู่กระบวนการคัดแยกขยะจนได้เป็นขยะเชื้อเพลิง RDF ที่มีค่าความร้อนเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 2,500-4,000 กิโลแคลลอรีต่อกิโลกรัม จากนั้น RDF จะถูกลำเลียงด้วยระบบสายพานจากโรงคัดแยกขยะ RDF เพื่อป้อนเข้าโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 9.8 เมกะวัตต์ โดยใช้เทคโนโลยีเตาเผาไหม้แบบตะกรับเคลื่อนที่ (Moving Grate) ที่ถูกออกแบบให้สามารถเผาขยะในอุณหภูมิปกติระหว่าง 850-1,100 องศาเซลเซียส โดยความร้อนที่ได้จากการเผาขยะเชื้อเพลิง RDF จะถูกนำไปต้มน้ำในหม้อไอน้ำเพื่อผลิตไอน้ำในอัตรา 45 ตันต่อชั่วโมงแรงดัน 40 บาร์ และอุณหภูมิ 400 องศาเซลเซียส ไอน้ำที่ผลิตได้จะถูกส่งเข้า Condensing Steam Turbine เพื่อผลิตไฟฟ้า
ส่วนก๊าซเสีย (flue gas) ที่ออกจากเตาเผาและหม้อไอน้ำจะถูกส่งเข้าถังปฏิกรณ์ (Fluidized Bed Reactor) ซึ่งจะทำหน้าที่กำจัดมลพิษทางอากาศ ในถังปฏิกรณ์จะมีการฉีดพ่นด้วยผงปูน (slaged lime) และละอองน้ำ (water mist) เพื่อกำจัด SO2 และ HCl ในเวลาเดียวกันก็จะมีการฉีดพ่นผงถ่านกัมมันต์ (activated carbon) เพื่อดูดซับ Dioxin ในถังปฏิกรณ์ (Fluidized Bed Reactor) หลังจากนั้นก๊าซเสียจะถูกนำเข้าถุงกรอง bag filter เพื่อดักจับอนุภาคและไดออกซินระบบถุงกรอง (bag filter) ต่อไป ก่อนจะระบายออกสู่บรรยากาศทางปล่อง โดยจะมีระบบควบคุมไม่ให้เกิน 80% ของค่ามาตรฐานตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of practice) และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ESA)
ส่วนปัญหากลิ่นภายในโรงคัดแยกขยะนั้น GPSC ได้มีการติดตั้งระบบดูดกลิ่น (Odor system) ในพื้นที่กระบวนการผลิต มีการฉีดพ่นน้ำยา EM และทำความสะอาดพื้นที่กระบวนการผลิตประจำวัน แต่ก็ต้องยอมรับว่ากลิ่นย่อมต้องมีเหลืออยู่บ้างเนื่องจากสภาพของขยะชุมชนเอง ซึ่ง GPSC ต้องทำการคัดแยกขยะทุกวันตามสัญญาและมาตรการที่มีอยู่เป็นการบรรเทา และหากมีเรื่องร้องเรียนจากชุมชนก็จะมีเจ้าหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ลงพื้นที่เพื่อขอข้อมูลและรับฟังปัญหา โดยจะมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเรื่องร้องเรียนจากชุมชนที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
นอกจากนี้ GPSC ยังได้จัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ ภาคประชาชน และผู้แทนโรงไฟฟ้า เพื่อร่วมตรวจสอบการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างความเชื่อมั่นต่อชุมชนโดยรอบ มุ่งสู่การเป็นโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงจัดตั้งโครงการธนาคารขยะร่วมกับชุมชน ซึ่งเป็นแหล่งที่จะให้ทั้งความรู้เกี่ยวกับขยะประเภทต่างๆ และเป็นสถานที่รับขยะจากชุมชนมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการเปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย อีกทั้งยังได้จัดตั้งหน่วยงานชุมชนสัมพันธ์ เป้าหมายเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร รวมถึงเป็นผู้แทนบริษัทฯ ในการประสานงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
GPSC ได้เป็นผู้ลงทุนและดำเนินกิจการ 100% ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 2,217 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF ประมาณ 1,655 ล้านบาท และโรงงานผลิต RDF ประมาณ 562 ล้านบาท ด้วยความหวังเพื่อจะตอบสนองการเติบโตภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และโครงการนี้ยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะชุมชนของ อบจ.ระยอง ที่ต้องนำไปฝังกลบในหลุมฝังกลบของ อบจ.ระยองได้
อย่างไรก็ตาม GPSC ให้ความสำคัญ และยังคงมุ่งดำเนินธุรกิจโดยยึดกรอบแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในส่วนของสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance:ESG) อย่างจริงจัง โดยเชื่อมโยงกลยุทธ์และกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ด้วยการนำนวัตกรรม ความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญของ GPSC ในการพัฒนาระบบไฟฟ้า ส่งมอบพลังงานสะอาดให้แก่ชุมชนและสังคม พร้อมทั้งจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้เกิดความปลอดภัย มีอาชีพที่มั่นคง เพื่อช่วยยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยังมีความมุ่งมั่นในการเพิ่มสัดส่วนการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด พร้อมกับการพัฒนานวัตกรรมพลังงานและธุรกิจแห่งอนาคต เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันจะเป็นรากฐานสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของบริษัทฯ ต่อไปในอนาคตอีกด้วย