นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่า จากที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขับเคลื่อนแนวคิดระดับโลก “การพัฒนาที่ยั่งยืน” สู่การปฏิบัติจริงระดับท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้บริบท “เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” โดยหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญคือ การประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ซึ่งได้มีการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติและเผยแพร่ผลงานนวัตกรรมเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ประจำปี 2563 ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป้าหมายต่อไปจะเร่งส่งเสริมและพัฒนาต้นแบบเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ด้านบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ที่สนใจ รวมถึงการต่อยอดเพื่อยกระดับให้เป็นเมืองต้นแบบสิ่งแวดล้อมอาเซียนอีกด้วย
สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการยกย่องว่ามีการจัดการเมืองที่คำนึงถึงการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลชนะเลิศเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืน ยอดเยี่ยมระดับประเทศ ประจำปี 2563 ประกอบด้วย “เทศบาลนครยะลา” จังหวัดยะลา ซึ่งเน้นการบริหารจัดการเมือง ภายใต้แนวทาง “กตัญญูนิยม สร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิด” ด้วยการจัดระเบียบผังเมืองรวมโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่กำหนด ลดปัญหาการใช้ที่ดินผิดประเภท จนสามารถจัดโซนการใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งมีการจัดการน้ำเสียอย่างครบวงจร พร้อมบังคับใช้เทศบัญญัติเรื่อง การติดตั้งบ่อดักไขมันบำบัดน้ำเสียในอาคาร พร้อมพัฒนาเทศบาลนครยะลาให้เป็น “นครแห่งสวน” ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกฝังจิตสำนึกประชาชนตระหนักถึงคุณค่า และมีการจัดการขยะครบวงจร ด้วยการจัดการขยะ ณ แหล่งกำเนิด ยึดหลัก “ไม่ทิ้งลงถัง อย่าหวังทิ้งบ้านคนอื่น” ผ่านกิจกรรมพัฒนาบ้านเกิด Big Cleaning Day และกิจกรรมรับซื้อขยะ พร้อมวางระบบในการจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพทำให้ปริมาณขยะลดลงวันละ 8 ตัน และเกิดเครือข่ายการจัดการขยะในโรงเรียนและชุมชนด้วย
นายวราวุธกล่าวต่อไปว่า ขณะที่ “เทศบาลเมืองชัยภูมิ” จังหวัดชัยภูมิ เป็นอีกต้นแบบความสำเร็จ โดยเฉพาะการจัดการน้ำท่วม ที่เน้นความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการกำลังคนและงบประมาณเข้ามาแก้ไขปัญหา จนสามารถพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วม และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ด้านการจัดการน้ำเสีย มีระบบบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศ รวมพื้นที่ให้บริการ 5.5 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 18 ของพื้นที่เทศบาล สามารถรองรับน้ำเสียได้ 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ด้านจัดการขยะมูลฝอย ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมกันคัดแยกขยะต้นทาง ขณะที่การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และส่งเสริมให้ประชาชนดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีพื้นที่สีเขียวสาธารณะคิดเป็นสัดส่วน 19.06 ตารางเมตรต่อคน
ส่วนที่ เทศบาลตำบลปริก จังหวัดสงขลา แม้เป็นเทศบาลขนาดเล็กที่มีเงื่อนไขและข้อจำกัดด้านงบประมาณและทรัพยากร แต่ก็ยังสามารถพัฒนาเมืองในหลายๆ ด้านไปพร้อมๆ กันได้เป็นอย่างดี เช่น การจัดการพลังงานไฟฟ้า ได้เน้นการสร้างสำนึกด้านพลังงานให้บุคลากรและประชาชนในพื้นที่ และตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากพลังงานทางเลือกให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด จนเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้บูรณาการขับเคลื่อนเรื่องพลังงานทางเลือก เพื่อขยายผลองค์ความรู้การประหยัดพลังงานจากโรงเรียน สู่ชุมชน และพัฒนาไปสู่เครือข่ายโรงเรียนประหยัดพลังงาน ปัจจุบันมีจำนวนถึง 5 แหล่ง
“จากการดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ภายใต้การขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม มีท้องถิ่นที่ได้รับการยกย่องว่ามีการจัดการเมืองที่คำนึงถึงการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถึง 14 เมือง ประกอบด้วย เทศบาลนครเชียงราย, เทศบาลนครอุดรธานี, เทศบาลนครภูเก็ต, เทศบาลเมืองพิจิตร, เทศบาลเมืองพนัสนิคม, เทศบาลเมืองกระบี่, เทศบาลเมืองตาคลี, เทศบาลตำบลเกาะคา, เทศบาลตำบลหนองเต็ง, เทศบาลตำบลเรณูนคร, เทศบาลตำบลเชียงเคี่ยน, เทศบาลตำบลเวียงเทิง, เทศบาลตำบลบ้านสาง และเทศบาลตำบลฉมัน พร้อมกันนี้ยังมีที่อยู่ระหว่างพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ระดับประเทศและอาเซียน+8 อีกจำนวน 6 เมือง คือ เทศบาลนครลำปาง, เทศบาลนครนครสวรรค์, เทศบาลเมืองลำพูน, เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์, เทศบาลตำบลป่าสัก และเทศบาลตำบลกำแพง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังเร่งดำเนินการเพื่อสร้างเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ” รมว.ทส.กล่าวในที่สุด