xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.ปฏิเสธรัวๆ ยันไม่มีทุจริต ลดสเปกระบบไฟฟ้ารันเวย์ทั้ง 'สุวรรณภูมิ' และ 'เชียงราย'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทอท.ปัดข่าวทุจริต ยันไม่มีลดสเปกคุณสมบัติวัสดุระบบไฟฟ้า รันเวย์ที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินเชียงราย ชี้ปัจจุบันผู้รับจ้างยังไม่ได้ยื่นเสนอวัสดุขออนุมัติ ขณะที่กำหนดติดตั้งกลางปี 65 ชี้ต้องเป็นตาม TOR อยู่ในบัญชีรายชื่อวัสดุอุปกรณ์มาตรฐาน (Vendor List)

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวระบุถึงความพยายามในการปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าสนามบิน ในโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ 3) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีการลดคุณสมบัติวัสดุ เปลี่ยนเป็นสินค้าจากจีน ซึ่งเป็นระบบที่ไม่เคยใช้ที่สนามบินใดมาก่อน และส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการใช้สนามบิน อีกทั้งสินค้าดังกล่าวไม่ได้มีอยู่ใน Vendor List ซึ่งเป็นการเปลี่ยนระบบไฟเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้าง ขณะที่ ทอท.ต้องจ่ายเงินราคาเดิม แต่ได้ของคุณภาพต่ำลงจากสเปกที่เขียนไว้ว่านำเข้าจากยุโรป เป็นการช่วยเอกชนให้มีกำไรมากขึ้น แล้วนำผลประโยชน์มาแบ่งกัน
 
ซึ่งฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท.ได้ออกเอกสารชี้แจง ยืนยันกรณีลดสเปกคุณสมบัติวัสดุระบบไฟฟ้าโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ไม่เป็นความจริง โดยระบุว่า 1. กรณีที่เอกชนผู้รับเหมาสร้างรันเวย์เส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ทั้งวิศวกรและผู้รับเหมาออกมาเปิดเผยว่าถูกกดดันให้ลดสเปกวัสดุระบบไฟ แต่เอกชนไม่ยอมลดสเปกเพราะกลัวมีความผิด และอาจส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยผู้โดยสาร เรื่องนี้ส่อมีการทุจริตหรือไม่ ทราบเรื่องนี้หรือไม่ และได้มีการตรวจสอบแล้วหรือไม่นั้น
 
ทอท.ได้ว่าจ้างบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ถนอมวงศ์บริการ จำกัด ดำเนินการก่อสร้างทางวิ่ง เส้นที่ 3 ความยาว 4,000 เมตร ทางขับขนาน ทางขับเชื่อมและทางขับ Perimeter Taxiway เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางวิ่ง ทสภ.ให้มีศักยภาพรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการมาตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ในการดำเนินโครงการตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำข้อกำหนดและขอบเขตงาน (Terms of Reference : TOR) ทอท.ได้กำหนดคุณสมบัติของวัสดุที่จะใช้ในโครงการ รวมถึงบัญชีรายชื่อวัสดุอุปกรณ์มาตรฐาน (Vendor List) ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากลและผ่านข้อกำหนดในการใช้งานไว้อย่างชัดเจนและรัดกุม โดยเมื่อถึงขั้นตอนการติดตั้งระบบไฟฟ้าสนามบิน ผู้รับจ้างจะต้องนำเสนอวัสดุที่มีคุณสมบัติผ่านมาตรฐาน และอยู่ในรายการ Vendor List ตามที่กำหนดไว้ใน TOR และในสัญญาจ้างแก่ที่ปรึกษาโครงการฯ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการตรวจรับพัสดุพิจารณาก่อนเริ่มดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้าสนามบินต่อไป

ปัจจุบันผู้รับจ้างยังไม่ได้ยื่นเสนอขออนุมัติระบบไฟฟ้าสนามบินดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากการดำเนินงานก่อสร้างยังอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงคุณภาพดิน ซึ่งเป็นระบบฐานรากของทางวิ่งเส้นที่ 3 ยังไม่ถึงกำหนดเวลาการดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้าสนามบิน โดยผู้รับจ้างวางแผนที่จะเริ่มติดตั้งอุปกรณ์ระบบดังกล่าวประมาณกลางปี 2565

ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณาอนุมัติวัสดุของ ทอท.ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องทุกขั้นตอน โดยยึดหลักประโยชน์สูงสุดของภาครัฐและความถูกต้องตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เป็นสำคัญ ซึ่งการนำวัสดุที่ไม่ผ่านคุณสมบัติตามข้อกำหนด และไม่อยู่ใน Vendor List มาใช้ เป็นการขัดต่อหลักการทำงานของ ทอท.ภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ดังนั้นจึงไม่มีความเป็นไปได้ที่ ทอท.จะดำเนินการตามที่เป็นข่าว

2. ประเด็นที่ระบุว่า กรณีที่เป็นลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) มาแล้ว เมื่อเอกชนไม่ยอมลดสเปกจึงถูกเปลี่ยนผู้รับเหมา ทอท.ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า ข้อพาดพิงดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากสัญญาก่อสร้างระบบทางขับขนานด้านทิศเหนือ และปรับปรุงทางขับท้ายหลุมจอด พร้อมทางขับ A และ B ท่าอากาศยานเชียงราย ได้มีหนังสือแจ้งเริ่มงานเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ซึ่งปัจจุบันทางผู้รับจ้างยังอยู่ในช่วงการเตรียมงาน จึงยังไม่ได้มีการเสนอสเปกของระบบไฟฟ้าสนามบินให้ ทอท.อนุมัติแต่อย่างใด โดยการดำเนินการในส่วนนี้มีแผนจะติดตั้งในเดือนกรกฎาคม 2565


กำลังโหลดความคิดเห็น