“อธิรัฐ” ตรวจความพร้อมก่อนเปิด “ท่าเรือปากเมง ประตูสู่อันดามัน” เจ้าท่าชงของบกลางปี 65 จำนวน 162.40 ล้านบาทเร่งขุดลอก ร่องน้ำกันตัง ปากแม่น้ำตรัง แก้ปัญหาตื้นเขิน รองรับเรือสินค้าและเรือประมงพาณิชย์หนุนเศรษฐกิจในภาคใต้
วันที่ 15 พ.ย. 2564 นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ท่าเรือปากเมง เพื่อตรวจความพร้อมพิธีเปิด “ท่าเรือปากเมง เปิดประตูสู่อันดามัน” โดยมีนายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ด้านวิชาการ และนายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปฏิบัติการ และผู้บริหารกรมเจ้าท่าให้ข้อมูล จากนั้นได้เป็นประธานฯ ในการประชุมร่วมกับ นายไพบูลย์ โอมาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายจุฬา สุขมานพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง ผู้แทนผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ ชาวบ้านเกาะสุกร เกาะลิบง ในการสนับสนุนงบประมาณการขุดลอกร่องน้ำกันตัง อำเภอกันตัง และท่าเรือเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง และหารือแนวทางในการพัฒนาท่าเรือและร่องน้ำอื่นๆ
สำหรับ ร่องน้ำกันตัง เป็นหนึ่งในร่องน้ำเศรษฐกิจ ซึ่งมีความยาว 30.850 กิโลเมตร และเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของภาคการขนส่งทางน้ำของจังหวัดตรัง จากท่าเรือเทศบาลกันตังและท่าเรือนาเกลือ สู่ท่าเรือต่างประเทศ เป็นร่องน้ำที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำตรัง มีความลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 4-6 เมตร ลักษณะของร่องน้ำเป็นโคลน-ทราย และมีอัตราการตกตะกอนที่สูง จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้สามารถใช้งานร่องน้ำได้สะดวกและปลอดภัยตลอดเวลา
ในปีงบประมาณ 2563 ได้ดำเนินการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำกันตัง มีความกว้าง 60 เมตร ลึก 3.50-5 เมตร (จากระดับน้ำลงต่ำสุด) ตามเกณฑ์ที่ออกแบบไว้ โดยจะมีเรือสินค้าและเรือประมงพาณิชย์ที่ใช้ร่องน้ำ ได้แก่ เรือซีเมนต์ เรือบรรทุกวัสดุก่อสร้าง ตู้คอนเทนเนอร์ เรือบรรทุกปุ๋ย เรือประมงขนาดใหญ่ สินค้าทั่วไป ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และข้าว
ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าขอรับการจัดสรรงบกลางปี 2565 ดำเนินการในระยะเร่งด่วนเนื้อดินจำนวน 1,350,000 ลูกบาศก์เมตร และหินจำนวน 50,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 162,400,000 บาท เพื่อแก้ไขปัญหาความตื้นเขินและบำรุงรักษาร่องน้ำให้กลับสู่สภาพปกติ เพิ่มขีดความสามารถในการเดินเรือ อันจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของจังหวัดตรัง และพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งเชื่อมโยงกับท่าเรือน้ำลึกและการคมนาคมขนส่งด้านต่างๆ ของร่องน้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ เชื่อมโยงในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
สำหรับโครงการที่พื้นที่มีความต้องการให้ก่อสร้างท่าเทียบเรือเพื่อสนับสนุนการเดินทางและการท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในอำเภอปะเหลียน ได้แก่ ท่าเรือเกาะสุกร หรือเกาะหมู อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เนื่องจากปัจจุบันมีความชำรุดทรุดโทรม มีการใช้งานมากกว่า 30 ปี ขนาดพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานในปัจจุบัน จำเป็นต้องดำเนินการแก้ไข โดยกรมเจ้าท่ามีการดำเนินการของบประมาณในปี 2566 จำนวน 10 ล้านบาท และงบผูกพันปี 2567 จำนวน 40 ล้านบาท เพื่อพัฒนาปรับปรุงท่าเรือรองรับการใช้งานให้มีความสะดวกปลอดภัย เพียงพอต่อการใช้งาน สามารถเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยขยายท่าเรือให้มีขนาดหน้าท่า 20x50 เมตร และปรับปรุงสะพานเชื่อมฝั่งความยาวประมาณ 200 เมตร
นายอธิรัฐกล่าวว่า ให้กรมเจ้าท่าดำเนินการขุดลอกให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้เรือสามารถใช้ร่องน้ำสัญจรเข้า-ออกได้ตลอดเวลา มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการประมง เนื่องจากสินค้ามีความสดใหม่ ส่งได้ทันเวลา และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางด้านธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเล สร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว พัฒนาสู่ความยั่งยืนต่อไป