เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเขตภาคกลางเดือดออกแถลงข่าวกระโดดป้อง อ.ส.ค. ย้ำ อ.ส.ค.มีความชอบธรรมเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน 100% ชี้เป็นหน่วยงานเดียวที่รับซื้อน้ำนมดิบและเป็นที่พึ่งให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศมากที่สุดกว่า 4,600 ฟาร์มทั่วประเทศ ทำให้เกษตรกรมีรายได้และความมั่นคงในอาชีพ ตอกหน้าคนขวางลำคิดถึงแต่ประโยชน์ตนเอง พร้อมเรียกร้องรัฐบาลทบทวนแนวทางการจัดสรรสิทธิโควตานมโรงเรียน เน้นไปที่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือหน่วยงานที่รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรด้วยความเป็นธรรมมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีตัวแทนสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอไรส์ออกมาแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปี 2565 นั้น ล่าสุดประธานชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด ร่วมกับตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่มวกเหล็กในการออกแถลงการณ์โต้ตอบถึงความไม่ชอบธรรมดังกล่าวในทันที
นายสุรักษ์ นามตะ ประธานชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ภาคกลางทั้ง 15 สหกรณ์ และสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศส่วนใหญ่รวบรวมน้ำนมดิบส่งขายให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศ หรือ อ.ส.ค.เป็นหลัก โดย อ.ส.ค.นำน้ำนมดิบไปผลิตนมพาณิชย์และนมโรงเรียน การที่มีบางคนออกมาคัดค้านการเข้าร่วมโครงการอาหาร (นม) โรงเรียนของ อ.ส.ค.จึงถือเป็นการไม่สนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศ แล้วยังไม่ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีรายได้ที่มั่นคงในอาชีพอีกด้วย
โดยเฉพาะปีงบประมาณ 2563/2564 นี้ อ.ส.ค.ได้ทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายน้ำนมดิบ (MOU) กับสหกรณ์สมาชิกทั่วประเทศจำนวน 681 ตัน/วัน แต่โดยความเป็นจริงแล้วหลายคนไม่รู้ว่า อ.ส.ค.ต้องรับซื้อน้ำนมดิบเกิน MOU ประมาณ 7-10% ของทุกปี หรือคิดเป็น 20% ของน้ำนมดิบรวมทั้งประเทศ ถือเป็นหน่วยงานที่รับซื้อน้ำนมดิบที่ผลิตจากฟาร์มโคนมเกษตรกรมากที่สุดในประเทศไทยด้วยซ้ำ
นายสุรักษ์กล่าวต่อด้วยว่า ปัจจุบัน อ.ส.ค.ถือเป็นหน่วยงานที่เป็นที่พึ่งของเกษตรกรเลี้ยงโคนมไม่น้อยกว่า 4,600 ฟาร์มจากประมาณ 19,200 ฟาร์มทั่วประเทศที่ส่งน้ำนมดิบขายให้ อ.ส.ค.ในปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรและสหกรณ์โคนมที่เป็นเครือข่ายของ อ.ส.ค.มีความเติบโตเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ ส่งผลให้เกษตรกรมีความยั่งยืนและมั่นคงในการประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนม
เนื่องจาก อ.ส.คได้ทำการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมแบบครบวงจร ดูแลเกษตรกร ให้คำแนะนำในการเลี้ยงการจัดการ และรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร สร้างความมั่นใจให้เกษตรกรได้มาก ทั้งยังแปรรูปน้ำนมดิบเป็นผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ตรา "วัวแดง" ออกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคเป็นอย่างดี ด้วยคุณภาพของผลิตภัณฑ์นมทุกชนิด ซึ่งผ่านกระบวนการผลิตจากโรงงานที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ จึงถือได้ว่า อ.ส.ค.เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องอยู่คู่กับเกษตรกรเลี้ยงโคนมของประเทศต่อไป ถึงแม้จะไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมโดยตรงจากรัฐบาลก็ตาม แต่ด้วยภารกิจหน้าที่ที่ต้องดูแลเกษตรกรและต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม ซึ่งมีการแข่งขันรุนแรงในตลาดมาเป็นรายได้ เพื่อทำงานด้านส่งเสริม จึงขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญต่อหน่วยงานที่ดูแลส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร ความเป็นธรรมและสิทธิที่พึงได้ให้แก่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและดำเนินธุรกิจเพื่อดูแลเกษตรกรด้วย
“จากกรณีที่มีการกล่าวถึงบทบาท อ.ส.ค.กับการทำธุรกิจด้านตลาดผลิตภัณฑ์นมว่า อ.ส.ค.มาทุ่มตลาดนมโรงเรียนในปีนี้ โดยขอให้ อ.ส.ค.ทบทวนบทบาทในการดำเนินงานด้านตลาดผลิตภัณฑ์นม กระผมคิดว่าเป็นคำกล่าวที่คิดเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวของผู้กล่าวอ้าง เป็นการสร้างกระแสข่าวต่อสาธารณะทำนองว่า อ.ส.ค.ขาดความชอบธรรมหรืออ้างถึงหลักธรรมาภิบาลในการยื่นขอรับสิทธิโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ในฐานะประธานชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด ซึ่งติดตามการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนมาโดยตลอด เห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีด้วยและมีเจตนารมณ์ให้เด็กๆ ได้ดื่มนมโคสดแท้ 100% ไม่ผสมนมผง ทำให้มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรงควบคู่ไปกับเกษตรกรสามารถส่งน้ำนมดิบได้ และมีตลาดรองรับที่แน่นอน แต่ปรากฏว่าการบริหารจัดการโครงการฯ เกษตรกรไม่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการฯ นี้ตามที่ควรจะเป็น เนื่องจากมีการแย่งชิงโควตาเพื่อให้ได้สิทธิเข้ามาดำเนินการในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนของผู้ประกอบการ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรโดยตรง” นายสุรักษ์กล่าวย้ำ
ด้านนายสมาน เหล็งหวาน ผู้นำเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ผ่านมามีเอกชนหรือผู้ประกอบการนมโรงเรียนบางกลุ่มไม่ได้ให้ความสำคัญต่อหน่วยงานภาครัฐที่ดูแล รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรเป็นจำนวนมากในแต่ละปี อย่างเช่น อ.ส.ค.ตามสัดส่วนที่ควรจะได้ โดยอ้างว่า อ.ส.ค.เป็นองค์กรของรัฐ ไม่ควรมาทำโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน แข่งขันกับภาคเอกชน เหตุผลที่กล่าวอ้างที่ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจาก อ.ส.ค.ต้องดูแลเกษตรกรและรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรโดยตรงไม่น้อยกว่า 700 ตัน/วัน ซึ่งเป็นน้ำนมโคสดแท้จากเกษตรกรไทย จึงควรได้รับการจัดสรรสิทธิตามหลักเกณฑ์ด้วยความเป็นธรรมเป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทั้งนี้ การปฏิบัติตามโครงการฯ ที่ผ่านมายังไม่เป็นธรรมต่อ อ.ส.ค.เป็นอย่างมาก
“อยากเรียกร้องให้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนในภาคเรียนปีต่อไป ได้พิจารณาทบทวนโดยเฉพาะการจัดสรรสิทธิโควตาทำนมโรงเรียนให้เน้นไปที่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือหน่วยงานที่รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรด้วยความเป็นธรรม ดูแลงานส่งเสริมเกษตรกร มีโรงงานผลิตนมที่ได้มาตรฐาน รับซื้อน้ำนมที่มีคุณภาพตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัดมาผลิตเป็นนมโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ การออกมาเรียกร้องของชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด ในครั้งนี้ไม่ได้ต้องการเอาเปรียบคนอื่น เพียงแต่ขอให้ผู้มีอำนาจจัดสรรสิทธิโควตานมโรงเรียนด้วยความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมที่สุดไม่ต้องสนใจความคิดเห็นของคนบางคนที่พยายามสร้างกระแสเพื่อกดดันรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นควรให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบกระบวนการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนอย่างเข้มงวดทุกขั้นตอน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนกล่าวคือให้เกิดประโยชน์กับนักเรียน จะได้ดื่มนมโรงเรียนที่มีคุณภาพ และดูแลเกษตรกรไทยได้มีอาชีพการเลี้ยงโคนมที่มั่งคงและยั่งยืนต่อไป” นายสมานกล่าว