xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ รับเลื่อนคำชี้ขาดคดีเหมืองทองเป็น 31 ม.ค. 65 เหตุต้องเจรจาระงับข้อพิพาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันอนุญาโตตุลาการในคดีข้อพิพาทเหมืองทองเลื่อนการออกคำชี้ขาดจากกำหนดการเดิม 31 ตุลาคม 2564 ออกไปเป็นวันที่ 31 มกราคม 2565 เนื่องจากการเจรจาระงับข้อพิพาทของทั้งสองฝ่ายมีแนวโน้มและทิศทางที่ดี โดยคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทฝ่ายไทยยึดหลักการเจรจาด้วยความรอบคอบ รัดกุม เป็นไปตามกฎหมาย และยึดถือประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นหลัก

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและประธานคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด
เปิดเผยว่า กรณีข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยยอมรับว่าความคืบหน้าการพิจารณาข้อพิพาทล่าสุดได้เลื่อนการออกคำชี้ขาดจากกำหนดการเดิม 31 ตุลาคม 2564 ออกไปเป็นวันที่ 31 มกราคม 2565

“กรณีที่ บริษัท คิงส์เกตฯ ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าในการพิจารณาข้อพิพาท และการขอเลื่อนการออกคำชี้ขาดจากกำหนดการเดิม 31 ตุลาคม 2564 ออกไปเป็นวันที่ 31 มกราคม 2565 นั้น ฝ่ายไทยขอยืนยันว่าขณะนี้ได้มีการเลื่อนการออกคำชี้ขาดออกไปจากกำหนดเดิมจริง พร้อมทั้งคู่พิพาททั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน ซึ่งเป็นกระบวนการปกติที่ดำเนินการคู่ขนานไปกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ตามคำแนะนำของอนุญาโตตุลาการที่ให้ทั้งสองฝ่ายไปเจรจากันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย” นายกอบชัยกล่าว

ทั้งนี้ การที่ทั้งสองฝ่ายเข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อระงับข้อพิพาท มิได้หมายความว่าฝ่ายไทยเชื่อว่าจะแพ้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ แต่หากสามารถตกลงยุติข้อพิพาทได้จะเป็นผลดีมากกว่าการให้คณะอนุญาโตตุลาการออกคำชี้ขาด โดยคณะกรรมการฯ ซึ่งมีผู้แทนจากหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและที่ปรึกษากฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสากล ในการดำเนินการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการอย่างรอบคอบ รัดกุม และเป็นเอกภาพ

สำหรับแนวทางการเจรจายึดถือประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นหลัก พร้อมทำความเข้าใจกับคู่เจรจาในส่วนที่เข้าใจไม่ตรงกัน ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งมีความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น