xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์” ร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านกฎหมาย พร้อมร่วมมือ “การส่งผู้ร้ายข้ามแดน-ยาเสพติด-อาชญากรรมระหว่างประเทศ-อาชญากรรมไซเบอร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (27 ต.ค.) เวลา 09.00 น. มีการประชุมร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านกฎหมาย ครั้งที่ 11 (ALAWMM) ด้วยระบบการประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จากประเทศมาเลเซีย ที่เป็นเจ้าภาพการประชุม โดยมี ดร.ฮาจิ วัน จูไนดิ ตอนกู จาอะฟะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เป็นประธานการประชุม และมี นายอิสมาอิล ซาบรี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวเปิดการประชุม

ในส่วนของผู้เข้าร่วมประชุม มี ดาโต๊ะไลลา อุตตามะ ฮาจี อาวัง อิซา อัยการสูงสุด บรูไนดาลุสสาลัม, เกิด รึทธ์ รมว.ยุติธรรมกัมพูชา, ยาซอนน่า เอช ลาวลี  รมว.กฎหมายและสิทธิมนุษยชน อินโดนีเซีย, ไซสี สันติวง รมว.ยุติธรรม สปป.ลาว, อิดรุส บิน อาซิซาน ฮารุน อัยการสูงสุด มาเลเซีย, ตี ดา อูล อัยการสูงสุด เมียนมา, เมนนาร์โด อี เกวาร์รา เลขานุการ กระทรวงยุติธรรม ฟิลิปปินส์, ลูเซียน หว่อง อัยการสูงสุด สิงคโปร์, เล ทั้ญ ลง รมว.ยุติธรรม เวียดนาม และ ดาโต๊ะ ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน

ส่วนคณะผู้แทนไทย มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม, นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม, นายธนวัชร นิติกาญจนา ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม, นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร ผอ.สถาบันอนุญาโตตุลาการ, น.ส.บาจรีย์ พึ่งพัตร์ ผอ.กองการเมืองและความมั่นคง กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ, นายโอภาษ วโรภาษ รองอธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมประชุม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุม ALAWMM นี้ แสดงให้เห็นถึงบทบาทและความมุ่งมั่นของเรา ในการเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทายในเวลานี้ ประเทศไทยต้องการให้ส่งกำลังใจและสนับสนุนเจ้าหน้าที่ทุกท่านให้ตั้งใจทำงานกันอย่างแข็งขัน เพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ความสงบและความมั่นคง การประชุม ALAWMM เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความร่วมมือให้กับประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน กรอบด้านกฎหมาย ซึ่งช่วยในการสร้างความร่วมมือกันระหว่างประเทศ การประสานงานข้ามเสาหลักและข้ามสาขาเป็นประเด็นที่สำคัญ เช่น การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ยาเสพติด อาชญากรรมระหว่างประเทศ และ อาชญากรรมไซเบอร์ เพื่อตอบสนองต่อความเชื่อมโยงนี้ พวกเราได้มีสนธิสัญญาอาเซียนและความช่วยเหลือทางกฎหมาย ทั้งในด้านทางอาชญาวิทยา และร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการร่วมผลักดันในประเด็นดังกล่าวนี้ เพื่อยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังและผู้กระทำผิดเพศหญิงในประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้ พวกเรายังมีความจำเป็นที่จะต้องเน้นย้ำในเรื่องพัฒนาความร่วมมือกันในด้านกระบวนการยุติธรรมเพื่อยกระดับผลประโยชน์ร่วมกัน

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมอาเซียนในประเด็นเรื่อง การป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (ACCPCJ) ในปีหน้า โดยคณะทำงานได้มีมติให้จัดการการประชุมในหัวข้อ“การตอบสนองต่อความท้าทายด้านอาชญากรรมและความยุติธรรมท่ามกลางการฟื้นตัวของอาเซียนจากวิกฤตโควิด-19” ซึ่งมีหัวข้อหลัก ได้แก่ อาชญากรรมทางไซเบอร์ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และ ความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการนี้ พวกเรายินดีต้อนรับทุกท่านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อสร้างความร่วมมือกันในประเทศสมาชิก พวกเรามั่นใจว่า การประชุมนี้จะช่วยยกระดับความเป็นเอกภาพและความเชื่อมโยงกันของประเทศสมาชิกอาเซียนไปสู่อีกขั้นหนึ่ง ตนมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งในการที่จะร่วมทำงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทุกท่านในการโอกาสและการประชุมอันใกล้

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานการจัดทำอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการโอนตัวนักโทษ ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและผลักดันประเด็นดังกล่าว และที่ประชุมได้กำหนดการจัดประชุม ALAWMM ครั้งที่ 12 ที่เมียนมา ในเดือน ต.ค. 2566 และประเทศไทยได้เสนอความคืบหน้าการจัดการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (ACCPCJ) ครั้งที่ 3 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในเดือน ส.ค. 2565










กำลังโหลดความคิดเห็น