MGR Online - รอง ผบ.ตร.ประชุมร่วมตัวแทนสมาคมธนาคารไทย แบงก์ชาติ กสทช.และ ปปง.วางมาตรการรับมือกรณีผู้เสียหายถูกตัดเงินผ่านบัตรเครดิต-เดบิต พบผู้เสียหายกว่า 1 หมื่นราย มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท มั่นใจสามารถตามจับคนร้ายได้แม้เป็นต่างชาติ
วันนี้ (19 ต.ค.) เวลา 12.15 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ประชุมร่วมตัวแทนสมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. เพื่อวางแนวทางแก้ปัญหากรณีมีการลักลอบหักเงินจากบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต หรือ บัญชีเดบิต ของประชาชนจำนวนมาก
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นมีผู้เสียหายหลักหมื่นคน ซึ่งบางส่วนทยอยเข้าแจ้งความกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ สอท. และ ศูนย์ปราบปรามการอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ศูนย์ PCT แล้ว ซึ่งหากผู้ใดได้รับความเดือดร้อน สามารถเข้าแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจทั่วประเทศ ก็จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลมาที่ส่วนกลางทันที
ส่วนพฤติกรรมของคนร้าย มีลักษณะลักลอบนำข้อมูลจากบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต จากการซื้อสินค้าออนไลน์ของประชาชน ไปใช้หักเงินจากบัญชีของผู้เสียหาย ซึ่งตำรวจจะมีการร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อติดตามตัวผู้ก่อเหตุมาให้ได้ แม้ผู้ก่อเหตุจะเป็นชาวต่างชาติ ก็จะดำเนินการถึงที่สุด เนื่องจากถือเป็นภัยคุกคามระดับประเทศ
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า การพูดคุยในวันนี้ได้พูดถึงเรื่องการป้องกันตัดโอกาสไม่ให้มีการกระทำผิดขึ้น รวมถึงการให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ไปในทุกช่องทาง เพื่อลดช่องโอกาสในการตกเป็นเหยื่อ โดยการบูรณาการร่วมกับทางธนาคาร และตำรวจที่รู้แผนการประทุษกรรมในเบื้องต้นตรวจพบมีผู้เสียหายจากผู้ใช้บัตรเครดิต 5,700 ราย ผู้ใช้บัตรเดบิต 4,800 ราย มีมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท ทั้งนี้ ทางธนาคารได้รับเป็นผู้เสียหายในกรณีนี้ โดยธนาคารต่างๆ จะมีการตรวจสอบความผิดปกติในการโอนเงินของบัญชีต่างๆ ควบคู่กับการรับแจ้งจากประชาชนที่ได้รับความเสียหาย เพื่อรวบรวมข้อมูลและหลักฐาน ส่งให้ตำรวจติดตามหาตัวคนร้ายต่อไป
“ผู้เสียหายไม่ต้องเข้าแจ้งความกับตำรวจ แต่สามารถเข้าติดต่อธนาคารเจ้าของบัญชีได้โดยตรง ขณะเดียวกันจะมีการตั้งผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น เชื่อมั่นว่า จะสามารถตามจับคนร้ายได้ แม้จะเป็นชาวต่างชาติ ก็มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือสัญญาต่างตอบแทน แต่เบื้องต้น ขอให้รู้ตัวคนร้ายให้แน่ชัดก่อน” รองผบ.ตร.กล่าว
ด้าน ตัวแทนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. เปิดเผยว่า ทาง ปปง. มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก ทำให้สามารถร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารต่างๆ ตรวจสอบเส้นทางทางการเงิน ย้อนกลับไปหาตัวคนร้ายได้
ขณะที่ นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ระบบธนาคารมีความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งในส่วนของการเยียวยา กรณีที่ผู้เสียหายได้รับผลกระทบจากบัตรเดบิต จะได้รับการคืนเงินภายใน 5 วันทำการ ส่วนบัตรเครดิต ธนาคารจะยกเลิกรายการดังกล่าว ผู้เสียหายไม่ต้องชำระเงินตามยอดเรียกเก็บที่ผิดปกติ โดยทางธนาคาร พร้อมรับผิดชอบคืนเงินให้ผู้เสียหายทุกกรณี ซึ่งเมื่อธนาคาร ตรวจสอบพบความเสียหายแล้ว จะติดต่อกลับไปยังผู้เสียหาย เพื่อคืนเงินต่อไป
ขณะที่ นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า กรณีนี้คนร้ายใช้ช่องโหว่ของการอำนวยความสะดวกด้านการทำธุรกรรมทางการเงิน ในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ สร้างความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งมีหลายวิธีการ จากการตรวจสอบพบแล้ว 5 วิธีการ แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ทั้งหมด เพราะอาจเป็นการชี้ช่องให้มิจฉาชีพนำไปใช้ได้ โดยจากนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารต่างๆ จะมีการปรับปรุงระบบให้ดีที่สุด
ด้าน นายธวัช ไทรราหู ประธานชมรมตรวจสอบและป้องกันการทุจริต ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงข้อกังวลของประชาชนบางส่วน ที่อาจไม่เคยทำบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต แต่ถูกหักเงินในบัญชีไป โดยยืนยันว่า ไม่ได้เกิดจากแอปดูดเงินอย่างที่มีข้อกังวล ส่วนกรณีนี้ มีการนำข้อมูลของบัตรเครดิต และบัตรเดบิต ไปสร้างความเสียหายให้กับประชาชน โดยเฉพาะ บัตรเดบิต ที่มีการผูกไว้กับบัญชีเงินฝากของประชาชน เมื่อมีการถูกตัดเงิน จึงเกิดผลกระทบทันที แต่กรณีที่ผู้เสียหายไม่เคยผูกบัญชีไว้กับการใช้จ่ายใดๆ นั้น ก็อาจได้รับผลจากการใช้บริการร้านค้าออนไลน์บางประเภทได้ เช่น การซื้อสติกเกอร์ไลน์ผ่านร้านค้า, การเช่าเว็บไซต์ หรือ การได้สิทธิเข้าเล่นเกมรายครั้ง ซึ่งจากนี้ต้องเดินหน้าให้ความรู้กับประชาชนมากขึ้น