ระบบการคมนาคมขนส่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวในการเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. 2564 และเครื่องบินจะเป็นการเดินทางหลักของนักท่องเที่ยว “สนามบิน” จึงเป็นประตูแรกที่ต้องมีมาตรการรองรับ และคัดกรองอย่างเข้มแข็ง ต่อด้วยระบบขนส่ง ทั้งรถโดยสารสาธารณะ ลิมูซีน รถบัส แท็กซี่ ที่เชื่อมจากสนามบินไปยังโรงแรมที่พัก และไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานมีการเตรียมความพร้อมกันอย่างเต็มที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวภายใต้มาตรการสาธารณสุขที่เข้มงวด
“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งเตรียมความพร้อมทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศคุมเข้ม “โควิด-19” ภายใต้มาตรการสาธารณสุข ทั้งการคัดกรอง ป้องกัน ควบคุม กำกับดูแล บุคลากร และนักท่องเที่ยว รวมทั้งมาตรการด้านความปลอดภัย ตลอดจนการอำนวยความสะดวกและปลอดภัย การให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยว
โดยบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) คาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 900-1,000 เที่ยวบิน โดยเปรียบเทียบกับเดือน ต.ค. 2564 ที่มี 26,905 เที่ยวบิน เป็น 27,285 เที่ยวบิน (เพิ่มขึ้น 1.4%) เพิ่มขึ้นอย่างชะลอตัว
สนามบิน “สุวรรณภูมิ และดอนเมือง” ได้กำหนดขั้นตอน ตั้งแต่ผู้โดยสารลงจากเครื่องบิน มีการใช้แอปพลิเคชัน “Thailand Plus” ยืนยันข้อมูลโดยมีกระทรวงการต่างประเทศรับรอง ทำให้ใช้เวลาตรวจสอบลดลง พร้อมกันนี้ได้มีการจัดช่องทางไว้อย่างชัดเจน และหากว่าผู้โดยสารมีความเสี่ยง เช่น มีไข้ ทีมของสาธารณสุขจะมีการแยกผู้โดยสารนั้นออกจากผู้โดยสารอื่นๆ ไม่ให้มีการปะปนเด็ดขาด
วันที่ 1 พ.ย. 2564 สนามบินสุวรรณภูมิมีสายการบินแจ้งทำการบินเที่ยวบินพาณิชย์ประมาณ 440 เที่ยวบิน เป็นเที่ยวบินภายในประเทศ 230 เที่ยวบิน เที่ยวบินระหว่างประเทศ 110 เที่ยวบิน และเที่ยวบินขนส่งสินค้า 100 เที่ยวบิน คาดว่าจะมีผู้โดยสารราว 30,000 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 23,000 คน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 7,000 คน
สำหรับสายการบินต่างประเทศ พบว่าในช่วงตารางบินฤดูหนาว ระหว่าง 31 ต.ค. 2564-26 มี.ค. 2565 มีการคืน slot บินประมาณ 70-80% เนื่องจากสายการบินยังมองว่าสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง และยังไม่ฟื้นตัว โดยที่สนามบินสุวรรณภูมิคืน slot ถึง 79% ส่วนสายการบินสัญชาติไทยคืน slot มา 42%
แหล่งข่าวจากสายการบินระบุว่า การประกาศเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. 2564 ไม่ได้หมายความว่าจะมีสายการบินเที่ยวบินและผู้โดยสารกลับมาในทันที เพราะก่อนที่สายการบินจะกำหนดตารางบินต้องมีกระบวนการในการขายตั๋วล่วงหน้า ส่วนผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาจะต้องมีปัจจัยอีกหลายเรื่องประกอบการตัดสินใจ หากการเดินทางสะดวก ปลอดภัย ไม่กักตัวจริง สถานที่พัก โรงแรม แหล่งท่องเที่ยว ระบบทัวร์ เอเยนต์ จะทำงานประสานกัน และไม่มีเหตุปัจจัยลบ หรือมีการติดเชื้ออย่างรุนแรง ระลอกใหม่ เชื่อว่าจะเห็นการเดินทางท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาคึกคักในช่วงปี 2565
@“สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง” เร่งซ่อมรันเวย์ คาดเที่ยวบินไม่ฟื้นเร็ว
สำหรับสนามบินสุวรรณภูมินั้น ปัจจุบันมีการซ่อมแซมพื้นผิวทางขับและถนนภายในเขตการบิน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2564 นอกจากนี้ มีแผนปรับปรุงพื้นผิวทางบริเวณหัวทางวิ่ง (Runway) ทางขับ (Taxiway) และทางขับเข้าสู่หลุมจอดอากาศยาน (Taxilane) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและลดปัญหาความล่าช้า และการติดค้างของเครื่องบินบนทางขับจากการซ่อมบำรุงพื้นผิวในระยะยาว ที่มีแผนจะดำเนินการปี 2565-2569
ขณะที่สนามบินดอนเมือง ปัจจุบันกำลังดำเนินการปรับปรุงผิวทางวิ่งซึ่งจะมีการปิดทางวิ่ง 21R-03L บางส่วนไปถึงวันที่ 27 ก.พ. 2565 คาดว่าจะแล้วเสร็จบางส่วนเดือน มิ.ย. 2565 ซึ่งช่วงนี้ดอนเมืองยังไม่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศ จึงไม่มีผลกระทบใดๆ
@“สนามบินกระบี่” เนื้อหอม โลว์คอสต์เริ่มจอง Slot
สำหรับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) มีสนามบินในกำกับดูแล 28+1 โดยมีสนามบินเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์จำนวน 22 แห่ง และมี 4 แห่งที่จะรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศในระยะที่ 1 ได้แก่ สนามบินกระบี่, สนามบินสุราษฎร์ธานี, สนามบินหัวหิน, สนามบินบุรีรัมย์
ปัจจุบันมีสายการบินต่างประเทศแจ้งแผนทำการบินมายังสนามบินกระบี่แล้ว ตามนโยบายเปิดประเทศ คือ สายการบิน Scoot Tiger (เส้นทางสิงคโปร์-กระบี่) โดยจะทำการบินตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2564-26 มี.ค. 2565 ทำการบินทุกวันอังคาร ศุกร์ เสาร์
นอกจากนี้ ยังมีสายการบินแอร์เอเชียแจ้งทำการบินเส้นทางสิงคโปร์-กระบี่ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564-26 มี.ค. 2565 ทำการบินทุกวัน และเส้นทางสิงคโปร์-หัวหิน ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564-26 มี.ค. 2565 ทำการบินทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ และอาทิตย์
ทั้งนี้ ทย.ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการสนามบินที่สนามบินกระบี่ เช่น ระบบ Common Use Passenger Processing System (CUPPS) ระบบ Common Use Self Service (CUSS) ระบบ Common Use bag Drop (CUBD) และระบบ Flight Information Display System (FIDS) ซึ่งเป็นระบบที่ให้บริการแก่สายการบินเชื่อมต่อกับระบบลงทะเบียนบัตรโดยสาร และระยะต่อไป จะให้บริการที่สนามบินสุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น
@บขส.เดินรถเพิ่มระหว่างประเทศ 15 เส้นทาง
ด้านการขนส่งทางบกนั้น รถโดยสาร บขส.เป็นอีกการเดินทางทั้งภายในประเทศและการเดินทางข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับความนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่ง บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้เตรียมพร้อมด้านพนักงานได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม 100% ตรวจ ATK ทุก 7 วัน ขณะที่ความพร้อมของรถโดยสารมีการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ได้เปิดเดินรถระหว่างประเทศเชื่อมไปยัง สปป.ลาว กัมพูชา ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์ หลวงพระบาง ปากเซ วังเวียง และเสียมราฐ รวม 15 เส้นทาง จำนวน 64 เที่ยว ประกอบด้วย
1. หนองคาย-เวียงจันทน์ 6 เที่ยว/วัน 2. อุดรธานี-เวียงจันทน์ 8 เที่ยว/วัน 3. อุบลราชธานี-ปากเซ 2 เที่ยว/วัน 4. มุกดาหาร-สะหวันนะเขต 12 เที่ยว/วัน 5. ขอนแก่น-เวียงจันทน์ 2 เที่ยว/วัน
6. กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ 1 เที่ยว/วัน 7. นครพนม-เมืองท่าแขก 8 เที่ยว/วัน 8. เชียงใหม่-หลวงพระบาง 1 เที่ยว/วัน 9. อุดรธานี-วังเวียง 1 เที่ยว/วัน 10. กรุงเทพฯ-ปากเซ 2 เที่ยว/วัน
11. เชียงราย-แขวงบ่อแก้ว-สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 15 เที่ยว/วัน 12. กรุงเทพฯ-เสียมราฐ 1 เที่ยว/วัน 13. กรุงเทพฯ-พนมเปญ 1 เที่ยว/วัน 14. เลย-หลวงพระบาง 2 เที่ยว/วัน 15. น่าน-หลวงพระบาง 1 เที่ยว/วัน
ส่วนเส้นทางภายในประเทศ ก่อนล็อกดาวน์ประเทศเมื่อปี 2563 บขส.มีการเดินรถรวม 115 เส้นทาง มีเที่ยววิ่ง 474 เที่ยว เป็นเส้นทางในประเทศ 100 เส้นทาง จำนวน 390 เที่ยววิ่ง เส้นทางระหว่างประเทศ 15 เส้นทาง จำนวน 84 เที่ยววิ่ง
ช่วงมีมาตรการเคอร์ฟิว มีการเดินรถรวม 39 เส้นทาง มีเที่ยววิ่ง 99 เที่ยว เป็นเส้นทางในประเทศ 39 เส้นทางจำนวน 99 เที่ยววิ่ง ไม่มีการเดินรถเส้นทางระหว่างประเทศ
แผนรองรับเดินทาง เปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. 2564 จะมีการเดินรถเส้นทางในประเทศ 75 เส้นทาง จำนวน 207 เที่ยววิ่ง
ส่วนรถร่วม บขส.มีการเดินรถรวม 199 เส้นทาง จำนวน 1,149 เที่ยว/วัน เพิ่มจากช่วงล็อกดาวน์ที่มี 193 เส้นทาง จำนวน 259 เที่ยว/วัน
ขณะที่จำนวนผู้โดยสารรถ บขส./รถร่วม ช่วงต้นเดือน ต.ค. 2564 มีจำนวน 12,100 คน ล่าสุดแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยวันที่ 29 ต.ค. 2564 มีผู้โดยสารจำนวน 18,669 คน
@ขสมก.เพิ่มความถี่ Airport Bus
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เตรียมเพิ่มความถี่การเดินรถเชื่อมท่าอากาศยานทั้ง 6 เส้นทางให้เพียงพอต่อความต้องการใช้บริการ โดยปัจจุบันมีรถบริการรวม 57 คัน ความถี่ 361 เที่ยว เพิ่มเป็น 60 คัน ความถี่ 544 เที่ยว ประกอบด้วย
สาย A1 ท่าอากาศยานดอนเมือง-BTS จตุจักร ปัจจุบันมีรถ 16 คัน ความถี่ 122 เที่ยว เพิ่มเป็น 160 เที่ยว
สาย A2 ท่าอากาศยานดอนเมือง-อนุสาวรีย์ชัยฯ ปัจจุบันมีรถ 162 คัน ความถี่ 68 เที่ยว เพิ่มเป็น 120 เที่ยว
สาย A3 ท่าอากาศยานดอนเมือง-สวนลุมพินี ปัจจุบันมีรถ 8 คัน ความถี่ 48 เที่ยว เพิ่มเป็น 80 เที่ยว
สาย A4 ท่าอากาศยานดอนเมือง-สนามหลวง ปัจจุบันมีรถ 8 คัน ความถี่ 50 เที่ยว เพิ่มเป็น 80 เที่ยว
สาย S1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-สนามหลวง ปัจจุบันมีรถ 6 คัน ความถี่ 21 เที่ยว เพิ่มเป็น 24 เที่ยว
สาย 555 รังสิต-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปัจจุบันมีรถ 7 คัน ความถี่ 52 เที่ยว เพิ่มรถเป็น 10 คันความถี่ 80 เที่ยว
ทั้งนี้ พนักงาน ขสมก.ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วกว่า 12,952 คน คิดเป็น 98% เหลือเพียง 2% ส่วนรถโดยสาร มีการทำความสะอาดก่อน-หลังให้บริการทุกครั้ง
@ระบบรางเข้ม โชว์เอกสาร “ฉีดวัคซีน-ตรวจเชื้อ” ก่อนขายตั๋ว
ด้านระบบรางทั้งรถไฟฟ้าในเมือง และรถไฟระหว่างเมือง มีระบบคัดกรองผู้โดยสารตามวิถี New Normal อยู่แล้ว ส่วนกรณีเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะมีการตรวจเอกสารยืนยันการฉีดวัคซีน ผลตรวจ (ATK) หรือ RT-PCR ไม่พบเชื้อภายใน 72 ชม. และตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าใช้บริการ
และก่อนจำหน่ายตั๋วโดยสารให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วจะต้องตรวจสอบเอกสารก่อน คือหลักฐานการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบ 2 เข็ม หรือครบโดสตามจำนวนวัคซีนแต่ละชนิด หรือหลักฐานจากโรงพยาบาลแสดงว่าเป็นผู้ที่หายจากอาการป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแล้ว ณ วันเดินทาง โดยจะต้องไม่เกิน 90 วัน
กรณีตรวจพบว่าไม่ได้รับวัคซีนและไม่มีผลตรวจ ATK/RT-PCR หรือมีอาการเสี่ยงในการติดเชื้อ สงวนสิทธิ์การให้บริการในระบบขนส่งทางราง
@รถไฟฟ้าผู้โดยสารแตะ 6 แสนคน/วัน หวังเปิดเมืองกระตุ้นเดินทาง
สำหรับรถไฟฟ้า MRT ให้บริการภายใต้มาตรการสาธารณสุข ซึ่งปรับความจุรองรับผู้โดยสารเป็น 100% โดยสายสีน้ำเงินขบวนรถรองรับได้ 886 คน/ขบวน ส่วนชานชาลารองรับ 192 คน/ชานชาลา สามารถรองรับผู้โดยสารขั้นต่ำได้ 500,000 คน/วัน สายสีม่วงรองรับได้ 921 คน/ขบวน และ 192 คน/ชานชาลา สามารถรองรับผู้โดยสารขั้นต่ำได้ 350,000 คน/วัน
ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารระบบรางโดยรวมเริ่มฟื้นตัวมา 50% แล้ว โดยวันที่ 29 ต.ค. 2564 พบว่ามีผู้โดยสารรวม 605,431 คน แบ่งเป็น รฟท. 23,070 คน, แอร์พอร์ตเรลลิงก์ 26,381 คน, รถไฟชานเมืองสายสีแดง 8,188 คน, รถไฟฟ้า MRT สีน้ำเงินและสีม่วง 191,406 คน, รถไฟฟ้า BTS 356,386 คน
“เทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่ระบบรางมีผู้โดยสารรวม 1,228,822 คน/วัน ผู้โดยสารยังหายไป 50% แต่มีสัญญาณที่ดี เพราะหากเป็นช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.ที่มีเคอร์ฟิวเข้มข้น มีผู้โดยสารเฉลี่ยเพียง 315,000 คน/วันเท่านั้น”
@รฟท.เตรียมเลิกวิ่ง 22 ขบวนแบบถาวร สวนทางเปิดประเทศ
สำหรับการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) มีแผนเดินรถรองรับผู้โดยสารทั่วประเทศ โดยก่อนเกิดโควิด-19 มีบริการรถโดยสาร 236 ขบวน แบ่งเป็น รถเชิงพาณิชย์ 84 ขบวน รถเชิงสังคม 152 ขบวน ปัจจุบันมีการเดินรถรวม 108 ขบวน แบ่งเป็นรถเชิงพาณิชย์ 26 ขบวน รถเชิงสังคม 82 ขบวน
เปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. 2564 จะเดินรถเพิ่มเป็น 154 ขบวน โดยเดินรถเชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 12 ขบวน รวมเป็น 38 ขบวน เดินรถเชิงสังคมเพิ่ม 34 ขบวน รวมเป็น 116 ขบวน และเดินรถไฟข้ามสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 1 จากวันละ 2 ขบวน เป็น 7 ขบวน
แต่ในทางกลับกันก็มีแผนที่จะงดเดินรถถาวร 22 ขบวน โดยเป็นรถเชิงพาณิชย์ 14 ขบวน รถเชิงสังคม 8 ขบวน เช่น สายเหนือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่/ กรุงเทพฯ-ศิลาอาสน์/ สายอีสาน กรุงเทพฯ-หนองคาย/ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี/ สายตะวันออก แก่งคอย-ลำนารายณ์/ กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา/ สายใต้ กรุงเทพฯ-ยะลา/ กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช/ รถชานเมืองกรุงเทพฯ-รังสิต/ อยุธยา-ลพบุรี
สำหรับการคมนาคมทางน้ำ มีมาตรการตรวจคัดกรองผู้โดยสารก่อนการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะทุกท่าเรือ พร้อมกันนี้ กรมเจ้าท่าได้มีการตรวจสอบสภาพความมั่นคงแข็งแรงปลอดภัยของท่าเทียบเรือต่างๆ ตรวจสอบอุปกรณ์ช่วยชีวิตประจำเรือ ขณะที่เรือด่วนเจ้าพระยาได้ปรับเพิ่มเที่ยวเรือด้วย พร้อมกับเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำจำนวน 10 จังหวัด ในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวด้วยความปลอดภัย
จากปริมาณนักท่องเที่ยวในปี 2564 ซึ่งประเทศไทยมีสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ค่อนข้างรุนแรง มีมาตรการปิดประเทศ การเดินทางท่องเที่ยวหยุดชะงัก โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่าการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. 2564 จะกระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 64% เมื่อเทียบกับการไม่มีมาตรการเปิดประเทศ
โดยรัฐบาลได้คาดการณ์เป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวในปี 2565 อยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 15 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 6 แสนล้านบาท นักท่องเที่ยวไทย สร้างรายได้รวมประมาณ 8 แสนล้านบาท และประเมินรายได้ของตลาดรวมจะคิดเป็น 50% ของปีปกติก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 หรือปี 2562 ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมอยู่ที่ 3.4 ล้านล้านบาท ...เปิดประเทศ ความหวังฟื้นเศรษฐกิจ!!