xs
xsm
sm
md
lg

โปรดเลี่ยง!รฟม.-บช.น.แจ้งปิดเบี่ยงจราจร “แยกรัชดา – ลาดพร้าว”3 เดือน ติดตั้งคาน”สายสีเหลือง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บช.น. และ รฟม. แจงปิดเบี่ยงจราจรบนสะพานข้ามแยกรัชดา - ลาดพร้าว และบริเวณโดยรอบ เพื่อดำเนินงานยกติดตั้งคานทางวิ่งชนิดเหล็ก (Steel Guideway Beam) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ต.ค.64-ม.ค. 65

วันที่ 29 ต.ค.2564 พลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พร้อมด้วย นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่า (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ได้ร่วมแถลงข่าวปิดเบี่ยงจราจรบนสะพานข้ามแยกรัชดา – ลาดพร้าว และรูปแบบการจัดจราจรบริเวณแยกรัชดา - ลาดพร้าว ในระหว่างการเตรียมความพร้อมและการยกติดตั้งคานทางวิ่งชนิดเหล็ก (Steel Guideway Beam) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง

นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ รฟม. (วิศวกรรมและก่อสร้าง) กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรงเป็นระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลแบบคร่อมรางบนทางวิ่งยกระดับตลอดสาย แนวเส้นทางเริ่มต้นบนถนนรัชดาภิเษก บริเวณแยกรัชดา - ลาดพร้าว เชื่อมต่อกับอาคารจอดแล้วจรสถานีลาดพร้าว ของรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน ไปตามแนวถนนลาดพร้าว ถนนศรีนครินทร์ และสิ้นสุดปลายทางบนถนนเทพารักษ์ บริเวณแยกเทพารักษ์ เชื่อมต่อกับสถานีสำโรง ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ โดยได้เริ่มก่อสร้าง (NTP)เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 มีความก้าวหน้างานโยธา 87.07% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 82.06% ความก้าวหน้าโดยรวม 84.90% (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564)

สำหรับการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ ในบริเวณแยกรัชดา - ลาดพร้าว นั้นเนื่องจากสภาพพื้นที่ก่อสร้างมีการจราจรคับคั่ง ไม่สามารถก่อสร้างเสาตอม่อบริเวณกลางสี่แยกได้ ประกอบกับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าซึ่งเป็นทางโค้งเลี้ยวจากถนนรัชดาภิเษกเข้าสู่ถนนลาดพร้าว ทำให้ระยะห่างระหว่างเสาตอม่อ บริเวณข้ามทางแยกมีความยาวประมาณ 61.5 เมตร ซึ่งต้องใช้คานทางวิ่งชนิดเหล็ก (Steel Guideway Beam) แทนคานทางวิ่งชนิดคอนกรีต โดยคานทางวิ่งดังกล่าวจะอยู่เหนือจากระดับสะพานข้ามแยกรัชดา - ลาดพร้าวประมาณ 7.4 เมตร ใช้ระยะเวลาในดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 3 เดือน โดยแบ่งขั้นตอนดำเนินงานเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้

1. ช่วงติดตั้งคานทางวิ่งเหล็กประมาณ 2 เดือน ผู้รับสัมปทานจะทำการเบี่ยงช่องจราจรขาเข้าและขาออก รื้อราวกันตกเดิมออก ติดตั้ง Temporary Box Girder บริเวณช่วงกลางสะพานข้ามแยกรัชดา - ลาดพร้าว และติดตั้งคานทางวิ่งเหล็กบน Temporary Box Girder
2. ช่วงคืนสภาพการจราจร เตรียมงานประมาณ 1 เดือน ผู้รับสัมปทานจะรื้อย้าย Temporary Box Girder สร้างราวกันตก และปรับปรุงผิวจราจรคืนสภาพเดิม

รฟม. ได้ร่วมกับ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา PCYL ในการกำกับบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (มหาชน) (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ ให้ดำเนินงานก่อสร้างด้วยความปลอดภัยสูงสุดทั้งต่อผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วน ตลอดจนประชาชนผู้สัญจรผ่านแนวสายทาง รวมถึงได้ เน้นย้ำให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการตามมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและจราจรโดยเคร่งครัด ด้วยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญทั้งนี้ ผู้รับสัมปทานได้มีการวางแผนการจัดจราจรบริเวณแยกรัชดา - ลาดพร้าว เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ใช้เส้นทางตลอดระยะการดำเนิน

พลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. กล่าวว่า รฟม. และผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ ได้นำเสนอแผนการจัดจราจร และหารือแนวทางการปิดเบี่ยงจราจรกับ บช.น. และสถานีตำรวจในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนการจัดการจราจรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยระหว่างการดำเนินงานได้มีการจัดสรรกำลังเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร พร้อมทั้งเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์เพื่อคลี่คลายปัญหาจราจรตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับรูปแบบการจัดจราจรในระหว่างดำเนินงานงาน มีดังนี้

1. ปิดเบี่ยงจราจร 1 ช่องทางขวา (ชิดราวสะพาน) บนสะพานข้ามแยกรัชดา - ลาดพร้าว ทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออก ระยะทางประมาณ 400 เมตร ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2564 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป ถึงวันที่ 31 มกราคม 2565

โดยผู้ใช้เส้นทางบนสะพานข้ามแยกรัชดา - ลาดพร้าว สามารถสัญจรได้ฝั่งละ 1 ช่องทาง โปรดชะลอความเร็ว เมื่อเข้าใกล้พื้นที่ปิดเบี่ยงจราจร

2. ปิดเบี่ยงจราจร 2 ช่องทางซ้าย บนถนนรัชดาภิเษก ฝั่งขาออก บริเวณแยกรัชดา - ลาดพร้าว ระยะทางประมาณ 15 เมตร ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งได้เริ่มปิดเบี่ยงแล้วตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2564 เวลา 22.00 น. และจะปิดต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2565

โดยผู้ใช้เส้นทางบนถนนรัชดาภิเษก ฝั่งขาออก สามารถสัญจรได้ 2 ช่องทาง และผู้ใช้เส้นทางบนถนนลาดพร้าว ฝั่งขาออก สามารถใช้ช่องทางพิเศษ สำหรับเลี้ยวซ้าย เพื่อมุ่งหน้ารัชโยธิน

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ประกอบด้วย สถานียกระดับทั้งสิ้น 23 สถานี ได้แก่ สถานีลาดพร้าว สถานีภาวนา สถานีโชคชัย 4 สถานีลาดพร้าว 71 สถานีลาดพร้าว 83 สถานีมหาดไทย สถานีลาดพร้าว 101 สถานีบางกะปิ สถานีแยกลำสาลี (จุดเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล) สถานีศรีกรีฑา สถานีหัวหมาก (จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟสายตะวันออก) สถานีกลันตัน สถานีศรีนุช สถานีศรีนครินทร์ 38 สถานีสวนหลวง ร.9 สถานีศรีอุดม สถานีศรีเอี่ยม สถานีศรีลาซาล สถานีศรีแบริ่ง สถานีศรีด่าน สถานีทิพวัล และสถานีสำโรง รวมระยะทางประมาณ 30.4 กิโลเมตร โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ 1 แห่ง และอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณสถานีศรีเอี่ยม

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2565 ถือเป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง ซึ่งทำหน้าที่ป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายหลัก (Feeder Line) วิ่งให้บริการในแนวเหนือ - ใต้ ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และเชื่อมต่อไปยังจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจะช่วยเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เป็นรูปแบบการเดินทางที่สร้างความสะดวกสบายให้แก่ประชาชน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังช่วยแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างยั่งยืนต่อไป












กำลังโหลดความคิดเห็น