WTO เผยทั่วโลกใช้มาตรการเกี่ยวกับโควิด-19 เพิ่มขึ้น 384 มาตรการ พบเป็นการจำกัดส่งออกถึง 114 มาตรการ กระทบการกระจายวัคซีนและสินค้าทางการแพทย์ จี้สมาชิกลดข้อจำกัดส่งออกวัคซีน วัตถุดิบ เร่งการขึ้นทะเบียน และแก้โลจิสติกส์ เพื่อหนุนการค้าโลกขยายตัว ส่วนมาตรการที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 ก็เพิ่ม แต่ยังดีที่การอำนวยความสะดวกมีมูลค่าทางการค้าที่สูงกว่า ด้านการปกป้องและตอบโต้ทางการค้าต่ำสุดตั้งแต่ปี 55
นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟิลด์ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา เปิดเผยว่า องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ออกผลการศึกษาฉบับล่าสุดเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อการค้าโลก พบว่าตั้งแต่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด ประเทศสมาชิกได้ใช้มาตรการทางการค้าที่เกี่ยวกับโควิด-19 แล้ว 384 มาตรการ แบ่งเป็นมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า 248 มาตรการ ครอบคลุมมูลค่าการค้า 291,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และมาตรการจำกัดการค้า 136 มาตรการ ครอบคลุมมูลค่าการค้า 205,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในจำนวนนี้เป็นมาตรการจำกัดการส่งออกถึง 114 มาตรการ ถือเป็นปัญหาสำคัญในการแก้ไขปัญหาการกระจายวัคซีนและสินค้าสำคัญทางการแพทย์อื่นๆ
ทั้งนี้ WTO เห็นว่าการขยายการผลิตและกระจายวัคซีนโควิด-19 ยังคงมีปัญหาคอขวด โดยยังมีการใช้มาตรการจำกัดการส่งออกวัคซีนและวัตถุดิบ รวมทั้งกระบวนการทางศุลกากรที่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อวัตถุดิบวัคซีนบางชนิด เช่น บางประเทศไม่อนุญาตให้วัตถุดิบในการผลิตวัคซีนผ่าน green channel หรือตัวอย่างวัคซีนที่ถูกส่งไปทดสอบที่ต่างประเทศต้องผ่านพิธีการทางศุลกากรเสมือนเป็นสินค้าทั่วไป, การขึ้นทะเบียนยา การขออนุญาตจำหน่าย การตรวจปล่อย กระบวนการ Post-approval changes รวมทั้งขั้นตอนการขยายการผลิตใช้เวลายาวนาน เปลี่ยนแปลงบ่อย และไม่สอดคล้องกันระหว่างประเทศ และมีปัญหาทางด้านโลจิสติกส์ในการขนย้ายวัคซีนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น การขาดเข็มฉีดยา และห้องเย็น เป็นต้น ทำให้การผลิตและกระจายวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกหยุดชะงัก เกิดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีน ส่งผลต่อเนื่องไปยังการค้าและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ
“WTO เห็นว่าความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาคอขวดเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการต่อสู้กับโควิด-19 และจะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของการค้าโลกในระยะต่อไป โดยหากสถานการณ์โควิด-19 ของทั่วโลกดีขึ้น การค้าโลกในปี 2564 จะขยายตัว 10.8% และเพิ่ม 4.7% ในปี 2565 แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องวัคซีนประกอบด้วย” นางพิมพ์ชนกกล่าว
นางพิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับมาตรการทางการค้าที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 ระหว่างเดือน ต.ค. 2563 ถึง พ.ค. 2564 พบว่าประเทศสมาชิกมีการใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า 61 มาตรการ ต่ำกว่าจำนวนมาตรการจำกัดการค้าที่ 70 มาตรการ แต่เมื่อคิดเป็นมูลค่าความครอบคลุมทางการค้า มาตรการอำนวยความสะดวกทางการมีมูลค่าทางการค้าสูงถึง 445,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มาตรการจำกัดทางการค้ามีมูลค่าทางการค้าเพียง 127,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแสดงว่าแม้สมาชิกจะใช้มาตรการจำกัดการค้า แต่ก็มีการออกมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ครอบคลุมมูลค่าการค้าที่สูงกว่า
ส่วนมาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้าที่ประเทศสมาชิกประกาศเริ่มไต่สวนระหว่างเดือน ต.ค. 2563 ถึง พ.ค. 2564 มีจำนวนต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2555 โดยมีค่าเฉลี่ยการเริ่มไต่สวนต่อเดือนที่ 19.1 เคสต่อเดือน