เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตอกย้ำถึงเศรษฐกิจไทยปี 2564 ที่ได้พ้นปากเหวแล้ว โดยคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 0.7% และในปี 2565 มีโอกาสขยายตัวได้ 3.9% ซึ่งสอดรับกับการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ก่อนหน้านี้ที่ปรับคาดการณ์จีดีพีปี 2564 จากเดิม -0.5-1% เป็น 0-1% โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เชื่อมั่นว่า ศก.ไทยจะไม่ติดลบมาจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่กระจายทั่วถึงมากขึ้นจนส่งผลให้ยอดติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตเริ่มมีอัตราชะลอตัว ขณะที่รัฐบาลประกาศแผนเดินหน้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินำร่อง 10 ประเทศโดยไม่กักตัว 1 พ.ย. 64 พร้อมกับผ่อนคลายมาตรการควบคุมพื้นที่สูงสุดต่อเนื่อง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจรับโค้งสุดท้ายปีนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยหลายฝ่ายมองว่าได้พ้นจุดต่ำสุดแล้ว แต่หากมองระยะสั้นๆ ช่วงท้ายปีนี้จนถึงต้นปี 2565 เรายังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงอีกพอสมควร ทั้งการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่คนทั่วโลกต่างหวังว่าวัคซีนต้านโควิด-19 จะนำมาสู่ความปกติได้ในไม่ช้านี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์ต่างเชื่อว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้จะยังคงอยู่กับเราต่อไป ขณะที่ราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันดิบสหรัฐฯเมื่อ 11 ต.ค.พุ่งแตะ 80 .52 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 7 ปี และนักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างมองตรงกันว่ามีโอกาสจะแตะไปสู่ระดับ 100 เหรียญต่อบาร์เรลได้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวของสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งไม่ใช่เพียงน้ำมัน ขณะนี้ราคาก๊าซและถ่านหินก็สูงขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ ราคาถ่านหินปรับตัวสูงจากความต้องการของจีนที่เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปเร่งผลิตไฟให้เพียงพอต่อความต้องการหลังเกิดการขาดแคลนไฟฟ้าในหลายพื้นที่ ด้านรัฐบาลท้องถิ่นในหลายเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือต้องใช้วิธี “ระงับการจ่ายไฟ” ในช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดตั้งแต่กลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาและส่งผลรุนแรงต่อภาคการผลิตหลายแห่งต้องระงับการผลิตชั่วคราว ซึ่งปัญหานี้อาจนำมาซึ่งวิกฤตซัปพลายเชนทั่วโลกที่ต้องติดตามใกล้ชิด
ปัจจัยเสี่ยงระยะประชิดนี้ถือว่ายังเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจไทยที่ต้องรับมือเร่งด่วนโดยเฉพาะราคาพลังงานและสินค้าที่อาจแพงขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งจะยิ่งฉุดกำลังซื้อของคนไทยมากขึ้น และนี่ยังไม่รวมกับโจทย์เก่าว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลกที่จะก้าวไปสู่โลกดิจิทัลที่กำลังเข้มงวด และกติกาโลกว่าด้วยสงครามการค้า (Trade war) และการเข้ามาของกติกาใหม่ว่าด้วยการเร่งแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่กำลังจะกลายเป็นประเด็นกีดกันทางการค้าที่ท้าทายการส่งออกของไทยมากขึ้นทุกขณะ
ไทยจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้าง ศก.ใหม่
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า ไทยยังคงเผชิญกับโจทย์ใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจที่เป็นความท้าทายถึงความยั่งยืนและความมั่นคงในอนาคตโดยเฉพาะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเน้นพึ่งพิงการส่งออก การท่องเที่ยว ที่ล้วนมีสัดส่วนที่ต้องอาศัยตลาด แรงซื้อจากต่างประเทศเป็นหลัก จึงเห็นได้ชัดเมื่อโควิด-19 ระบาดการท่องเที่ยวที่ไทยพึ่งพิงนักเดินทางจากต่างชาติที่ผ่านมา 40 ล้านคนหายไปทันที แม้ว่าภาคการส่งออกจะขยายตัวแต่ก็ไม่อาจไปชดเชยภาคท่องเที่ยวและบริการที่สูญหายไปได้ เศรษฐกิจไทยจึงไม่อาจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งเหมือนเช่นเคย
“เห็นด้วยที่รัฐเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพราะเป็นเรื่องจำเป็น และประเทศอื่นๆ ก็เริ่มเปิดเช่นกัน แต่เราควรเผื่อใจไว้ว่านักท่องเที่ยวในอดีตที่มา 40 ล้านคนนั้นระยะยาวก็อาจจะไม่กลับมาเป็นดั่งเดิมเพราะวิถีชีวิตต่างๆ ของคนได้เปลี่ยนไปมากจากโควิด-19” นายเกรียงไกรกล่าว
เขากล่าวต่อว่า ปี 2565 เศรษฐกิจไทยยังคงต้องพึ่งพิงภาคการส่งออก แต่โควิด-19 ทำให้ประเทศทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงความมั่นคงด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เริ่มมุ่งเน้นการผลิตเองให้ครบวงจร เน้นนวัตกรรมที่จะมาสร้างสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านอาหาร เป็นต้น ขณะเดียวกัน กติกาลดโลกร้อนเริ่มกลายเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้า รวมไปถึงสงครามการค้า (Trade war) ที่ยังคงดำรงอยู่ เหล่านี้ถือเป็นความท้าทายโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่จะกระทบต่อส่งออกไทยได้ในระยะยาว
ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงการที่ภาคการผลิตของไทยอาจถูก Disrupt จากเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อก้าวไปสู่โลกแห่งยุคดิจิทัล เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะเปลี่ยนไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) กำลังจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี SDD ฯลฯ เหล่านี้ไทยมีฐานการผลิตที่เป็นแบบดั้งเดิมจะได้รับผลกระทบ และนั่นหมายถึงการจ้างงานที่จะเกิดปัญหาตามมา ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นปัญหานี้และมีการวางยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 มุ่งเน้นอุตสาหกรรม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งถือว่ามาถูกทางตามเทรนด์ของโลกยุคใหม่แล้วแต่แผนปฏิบัติไม่ชัดเจน และล่าช้า
“ยุทธศาสตร์ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยนั้นไอเดียดี แต่แผนปฏิบัติยังไปไม่ถึงไหน และการปฏิบัติส่วนหนึ่งต้องใช้กลไกรัฐผ่านระบบราชการในการร่วมกันขับเคลื่อนกับธุรกิจและประชาชน แต่วันนี้โครงสร้างราชการที่บอกว่าจะก้าวไป 4.0 นั้นยังมองไม่เห็นภาพชัดนัก เพราะเราเพิ่งจะเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชนทั้งที่ควรยกเลิกมานานมากแล้ว การศึกษาเราก็ยังไม่ได้ตอบสนองโลกปัจจุบันที่จะต้องเร่งพัฒนาคนให้สร้างเศรษฐกิจใหม่ ฯลฯ ผมเห็นว่าหากเราปล่อยให้เป็นไปแบบนี้เราจะก้าวไม่ทันโลก เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต้องเปลี่ยนทั้งโครงสร้างเกี่ยวกับทุกคน ทุกมิติ” นายเกรียงไกรกล่าว
ภาคเกษตรไทยไม่ใช่แค่ปฏิรูป แต่ต้องปฏิวัติใหม่
นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเกษตรมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และยังเป็นวัตถุดิบนำไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารส่งออกไปทั่วโลกจนส่งผลให้ปี 2563 ไทยส่งออกอุตสาหกรรมอาหารเป็นลำดับที่ 13 ของโลก และที่ 2 ของภูมิภาคเอเชีย แต่ขีดความสามารถดังกล่าวกำลังถดถอยเนื่องจากประเทศคู่แข่งการค้าเริ่มพัฒนามากขึ้น ไทยจึงต้องปฏิวัติภาคการเกษตรใหม่ไม่ใช่เพียงแค่การปฏิรูป
“โลกกำลังพูดกันถึงความมั่นคงทางอาหาร ด้วยประชากรโลกจะก้าวสู่ระดับ 9,600 ล้านคนในอีก 40 กว่าปีข้างหน้า ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังถูก Disruptive Technology และไทยส่วนใหญ่รับจ้างการผลิต เทคโนโลยีล้วนแต่เป็นของต่างชาติ เมื่อโลกประสบกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ทุกคนยิ่งต้องมองหา Local Economy ภาคเกษตรของไทยคือคำตอบที่จะเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ยั่งยืน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพที่จะเป็นครัวโลกได้ แต่เราต้องปฏิวัติเกษตรแบบดั้งเดิมมาสู่เกษตรแบบใช้เทคโนโลยี ทำน้อยได้มาก เป็นเกษตรปลอดภัย ในการสร้างรายได้ให้เกษตรกรแบบยั่งยืน ไม่ใช่เป็นครัวโลกแต่เกษตรกรยากจน แบบนี้ไม่เอา” นายศักดิ์ชัยกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีบทบาทสำคัญในการวางระบบบริหารจัดการ ซึ่งขณะนี้ ส.อ.ท.ได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่ ที่ผู้ประกอบการภาคเกษตรอุตสาหกรรม (Big Brother) เครือข่าย ส.อ.ท.จะร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ ยกระดับการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้เกษตรกรเข้าถึงปัจจัยการผลิต ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ และสร้างความเชื่อมโยงของเครือข่ายการผลิตภายใต้นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” โดยมีตลาดอุตสาหกรรมรับซื้อผลผลิตที่แน่นอน โดยเกษตรจังหวัดมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการแนะนำให้การสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่เพื่อป้องกันสินค้าล้นตลาด
“จีนมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการพัฒนาภาคการเกษตรในชนบทเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งไทยเองก็ทำได้ แต่ยุทธศาสตร์ต้องให้ชัดมากกว่านี้ เพราะต้องเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและงบประมาณ ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรเข้ามาสนับสนุน ระบบน้ำที่ไม่เพียงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแต่ต้องแก้ภัยแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวันนี้ภาคเกษตรเราประสบอุทกภัยหลายพื้นที่ ระยะสั้นรัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยา” นายศักดิ์ชัยกล่าว
นี่เป็นเพียงมุมมองหนึ่งในแง่ของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เคยอาศัยบุญเก่ามาอย่างยาวนาน 30-40 ปีและยังคงเป็นวิถีแบบดั้งเดิม แต่โลกกำลังจะก้าวผ่านไปสู่ยุคใหม่ แม้ว่าประเทศไทยจะมียุทธศาสตร์ที่จะปกป้องให้ประเทศยังคงยืนอยู่ในระดับที่ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้และหวังพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง แต่ระหว่างทางปฏิบัตินั้นไม่ง่ายเลย ด้วยเพราะนวัตกรรมของโลกก้าวแบบอัตราเร่ง แต่แผนปฏิบัติของไทยยังคงค่อยๆ คืบคลานไปอย่างช้าๆ
ท่ามกลางโควิด-19 ที่แม้ว่าขณะนี้อัตราผู้ติดเชื้อใหม่รายวันชะลอตัวอยู่ในระดับ 10,000 รายจากอดีตที่เคยวิ่งไปกว่า 20,000 รายนั้น ก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน ...... ความเสี่ยงของการกลายพันธุ์หรือการกลับมาระบาดหนักอีกยังคงมีอยู่ ขณะที่ปัจจัยสารพัดทั้งระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มจะแพงอีกในช่วงปลายปีที่อาจกระทบต่อภาคการผลิตและสินค้าที่ราคาแพงขึ้น ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยระยะสั้นๆ ที่ต้องตั้งการ์ดให้สูงไว้ล่วงหน้า .......
แม้เศรษฐกิจไทยปีนี้หลายคนมองว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว...และปีหน้าจะฟื้นตัวมากขึ้น ก็ยังไม่แน่ว่าจุดที่ต่ำสุดกว่าอาจรออยู่ข้างหน้าก็ได้ ...เพราะความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกนั้นเราควบคุมไม่ได้ รัฐ เอกชน และประชาชนทุกส่วนจึงไม่ควรประมาท