“กกร.” ปรับ GDP ปีนี้ใหม่ไม่ติดลบ วางกรอบโต 0-1% แต่คงเป้าส่งออก เงินเฟ้อ หลังเริ่มผ่อนคลายกิจกรรม ศก.มากขึ้น รวมถึงมาตรการคนละครึ่ง เที่ยวด้วยกันเฟส 3 หนุน จ่อร่อนหนังสือถึงนายกฯ ขอเข้าพบสัปดาห์นี้ เล็งเสนอมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวและ ศก.อื่นๆ เพิ่มเติม แนะอัดเงินคนละครึ่งเป็น 6 พันบาท ใช้ช้อปดีมีคืน พร้อมเล็งดันไทยร่วม CPTPP ก่อนตกขบวน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะทำหน้าที่ประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันที่ 11 ต.ค. ว่า กกร.ได้ปรับประมาณการการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2564 ดีขึ้นจาก ณ ก.ย. 64 ที่คาดการณ์ไว้ GDP จะโตในกรอบ -0.5-1% เป็น 0.0-1% ส่งออกยังคงเดิมที่ 12-14% และเงินเฟ้อทั่วไปคงกรอบเดิมที่ 1-1.2% ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้เห็นว่ารัฐบาลควรจะต้องมีมาตรการเสริมอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในปีนี้และระยะต่อไป โดยเฉพาะการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ดังนั้น กกร.จึงกำลังรวบรวมประเด็นข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการเงิน การคลัง และภาษีเพื่อส่งหนังสือที่จะขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในสัปดาห์นี้
“เราเชื่อว่า GDP ปีนี้จะไม่ติดลบ เพราะเศรษฐกิจไทยเรามีปัจจัยบวกจากสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลงจากแผนกระจายการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น และรัฐเริ่มผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยเปิดดำเนินการได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยต้องจับตามองมาตรการผ่อนคลายที่จะออกมากลางเดือน ต.ค.ถึงต้นเดือน พ.ย.ต่อไป ขณะเดียวกัน รัฐได้มีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีทั้งโครงการคนละครึ่งเฟส 3 โครงการเที่ยวด้วยกันเฟส 3 ซึ่งรัฐบาลควรมีมาตรการเสริม ทั้งช้อปดีมีคืนที่เห็นว่าควรต้องเร่ง พ.ย.-ม.ค. 65 นี้ และอยากให้เติมเงินคนละครึ่งเป็น 6,000 บาทเพื่อให้หมุนเวียนดีขึ้น และแผนเปิดประเทศต้องการให้ชัดเจนเพื่อที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาวางแผนได้ล่วงหน้า” นายสนั่นกล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่ต้องติดตาม ได้แก่ กรณีน้ำท่วมที่เบื้องต้นคาดว่าจะมีผลกระทบ GDP 0.1% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.5 หมื่นล้านบาท และยังมีบางพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง นอกจากนี้ ปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี กระทบต้นทุนการผลิต การขนส่ง และประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนทำให้ราคาจะยิ่งได้รับแรงกดดันแม้ว่าล่าสุดรัฐได้มีการดูแลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรแต่ก็เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าขณะที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังมีแนวโน้มสูงอีก จึงเป็นความท้าทายเพราะสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว อุปทานตึงตัวและราคาพลังงานที่สูงจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด รวมถึงทำให้อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภค (CPI) ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นต้น
นายสนั่นกล่าวว่า กกร.ยังเตรียมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รมว.กระทรวงการต่างประเทศ และพาณิชย์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของภาคเอกชน รวมถึงจะขอหารือถึงท่าทีของไทยที่จำเป็นในการเร่งรัดการพิจารณา เนื่องจากปัจจุบันทางจีน สหราชอาณาจักร และไต้หวัน ได้มีเจตจำนงเข้าร่วมเจรจากับ CPTPP อย่างชัดเจนแล้ว และหากไทยยังล่าช้าไปกว่านี้ อาจทำให้ต้องเจรจาตามเงื่อนไขของประเทศทั้ง 3 เพิ่มเติม จากเดิมที่จะต้องเจรจากับ 11 ประเทศที่เป็นสมาชิก CPTPP ในปัจจุบัน และทำให้ไทยเสียโอกาสในการแข่งขันทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์
นอกจากนี้ กกร.ยังได้หารือแนวทางการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลปี 2562 พีดีพีเอ กกร.จะนำเสนอแต่งตั้งให้เอกชนไปเป็นตัวแทนกรรมการด้วย ชุดย่อยอื่นๆ ด้วย จะขอให้รัฐพิจารณาเลื่อนการบังคับใช้มาตรการบทลงโทษหมวด 6-7 ออกไปอีก 3 ปี และแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสมไม่เป็นอุปสรรค รวมถึงการผลักดันและสนับสนุนการผลิตและบริโภคสินค้าและบริการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้กรมบัญชีกลางออกบัญชีจัดซื้อจัดจ้างเป็นภาคบังคับ สินค้าที่ได้รับรองสลากอีโคพาสอยู่ในบัญชีกรมควบคุมมลพิษ ต้องส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตและจัดซื้อจัดจ้างได้รับลดหย่อนภาษี 2 เท่า
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รัฐจำเป็นจะต้องเข้ามาดูแลราคาพลังงานใกล้ชิด เนื่องจากระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นแล้วจะนำมาซึ่งระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าเดินทางต่างๆ สูงขึ้นได้ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องเข้ามาดูแลส่วนนี้