xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลชี้เอกชน-TDRI-ธปท.ขานรับปรับเพดานหนี้สาธารณะ 70% เหมาะเพิ่มความคล่องตัวให้รัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
โฆษกรัฐบาล เผย ภาคเอกชน-TDRI-ธปท. ขานรับปรับการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ 70% ชี้เหมาะสมเพิ่มความคล่องตัวให้รัฐ ระบุมีสัญญาณบวกหลายตัว

วันนี้ (22 ก.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยความเห็นจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจการคลัง/การวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งภาคเอกชน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ชี้ว่าการปรับเพดานหนี้สาธารณะ จาก 60% เป็น 70% เหมาะสมกับสถานการณ์ประเทศในขณะนี้ โดยเป็นไปเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ให้ความเห็นว่าการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ในขณะนี้ถือว่าเหมาะสม เพราะตัวเลขหนี้สาธารณะในระดับ 60% ถือว่าคาบเส้นมากเกินไป โดยที่ผ่านมาตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ลดลงจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้เพดานหนี้ต่อ GDP จะแคบลงอีก นอกจากนี้ การขยายเพดานการกู้สามารถทำได้จากหลายสาเหตุ เช่น ตัวเลขหนี้ภาครัฐของไทยใช้นิยามที่มาตรฐานสูงกว่าสากล โดยรวมหนี้รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีจำนวนกว่า 8 แสนล้านบาท เข้าไปด้วย ทำให้ตัวเลขโดยรวมสูงกว่าปกติถ้าวัดตามมาตรฐานสากล

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่า การขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% เป็นไปเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับการดำเนินนโยบายรัฐเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และยังคงมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังในระดับต่ำ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 55.6% เทียบกับระดับปัจจุบันของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ประมาณ 120% และกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในแถบเอเชียที่ประมาณ 70% นอกจากนี้ หนี้สาธารณะของไทยเกือบทั้งหมดเป็นหนี้ในประเทศ 98.2% และต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลไทยอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปีของไทย ณ วันที่ 20 กันยายน 2564 ต่ำกว่า 1.8% ซึ่งต่ำสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน ที่ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเกิน 3% และ ความเสี่ยงในการถูกปรับลด credit rating ของไทยอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าประเทศที่กำลังพัฒนาในแถบเอเชียที่มี credit rating ระดับเดียวกับไทย และมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงกว่าไทยเป็นส่วนใหญ่ อาทิ อินเดียที่ 87% และมาเลเซียที่ 67%

นอกจากนี้ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังเห็นว่า รัฐบาลมีความจำเป็นในการขยายเพดานหนี้สาธารณะ เพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาเดินหน้าได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดยื้อทำให้เศรษฐกิจไทยบอบช้ำ จึงจำเป็นต้องต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ มิฉะนั้น อาจเกิดความเสียหายมหาศาล เช่นเดียวกับหลายประเทศในขณะนี้ ก็มีการขยายเพดานหนี้เช่นกัน ในส่วนของ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สนับสนุนการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน ส่วนมาตรการที่รัฐบาลควรนำมาใช้เร่งด่วน เช่น การเยียวยาผู้ประกอบการทุกประเภท เป็นต้น

“ภาคเอกชนและนักวิชาการ เห็นสอดคล้องมาตรการปรับเพดานหนี้สาธารณะ 70% โดยชี้ว่า เหมาะสมกับสถานการณ์ประเทศในขณะนี้ รัฐบาลมุ่งมั่นทำงานอย่างหนัก เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งมีสัญญาณบวกหลายตัว อาทิ การส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง การท่องเที่ยวที่กำลังจะกลับมาฟื้นตัวและการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่คาดว่า จะเป็นไปตามเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งช่วยสร้างเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและนักลงทุน และเร่งให้การบริโภคกลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งส่งผลทำให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้น” นายธนกร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น