xs
xsm
sm
md
lg

กนอ. MOU สมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ “สร้างภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันโควิด-19”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการกับสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ “สร้างภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันโควิด-19” ให้ความรู้บุคลากรเรื่องโควิด-19 หวังลดภาระสถานพยาบาล

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
เปิดเผยว่า วันที่ 6 ต.ค.ได้มอบหมายให้ นางปนัดดา รุ่งเรืองศรี รองผู้ว่าการสายงานบริหาร ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ (เอ็มโอยู) สร้างภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันโควิด-19 กับสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ โดยมีนายแพทย์ ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุเป็นผู้แทน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และดูแลบุคลากรของ กนอ. ผู้ประกอบกิจการต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ช่วยเหลือบุคลากรของ กนอ.และผู้ประกอบการให้ได้รับการตรวจอย่างทั่วถึง ช่วยเหลือกลุ่มผู้เสี่ยงสูงให้ได้รับการตรวจอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระสถานพยาบาลและโรงพยาบาลในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทสนับสนุนงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเพื่อลดอัตราการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ในโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ สมาคมฯ มีเป้าหมายหลักในการยกระดับธุรกิจดูแลสุขภาพเพื่อมุ่งสู่สากล ด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เพื่อความสำเร็จร่วมกันกับผู้ประกอบการ ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไปให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ขณะที่ กนอ.มีเป้าหมายในการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และความปลอดภัยครอบคลุมทุกด้านในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ลดผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชน

“กนอ.และสมาคมฯ มีเจตจำนงร่วมมือกันดำเนินโครงการ “สร้างภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันโควิด-19” เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญของการให้ความรู้เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ทั้งการดูแลปกป้องตนเอง การทำ Home Isolation รักษาตนเองที่บ้าน การเร่งตรวจหาเชื้อ เพื่อเป็นความรู้ในการดูแลบุคลากรของ กนอ.อย่างครบวงจร และเป็นส่วนหนึ่งให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่จะได้ทำร่วมกันต่อไปในอนาคต” นายวีริศกล่าว

สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากการลงนามเอ็มโอยูนี้ จะนำไปสู่การแบ่งเบาภาระบางส่วนจากบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยลดการแพร่กระจายและลดความเสี่ยงของบุคลากรในการเข้ารับการตรวจหาเชื้อ เพิ่มความรู้เกี่ยวกับการแพร่เชื้อ รวมถึงเพิ่มความรู้เกี่ยวกับการรักษาตัวที่บ้านให้บุคลากรหากมีการติดเชื้อ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น