“สุริยะ” เร่ง ก.อุตฯ อัดยาแรงผ่าน 4 เครื่องมือ 1 กลยุทธ์ ดึงกองทุนเอสเอ็มอีฯ อัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท ยกระดับภาคการผลิตอุตสาหกรรมไทย พร้อมผนึกกำลังเครือข่ายเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Core) ทั่วประเทศ ตั้งเป้าไทยเป็นผู้นำการผลิตและใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของอาเซียนภายในปี 2569
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ พร้อมขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกระดับรองรับการผลิตสมัยใหม่ ผ่านเครื่องมือสำคัญภายใต้แนวคิด 4 เครื่องมือ (Tools) กับ 1 กลยุทธ์ (Strategy) ประกอบด้วย 1. การให้บริการด้านการพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศ (IT) 2.การนำระบบอัตโนมัติ (Automation) มาใช้ในการพัฒนาระบบการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต 3.หุ่นยนต์ (Robot) ลดการใช้แรงงานในกระบวนการผลิต และ 4.นวัตกรรม (Innovation) พัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และ 1 กลยุทธ์ (Strategy) คือ มุ่งพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster) เพื่อขับเคลื่อนเป็นพลังใหญ่ต่อยอด SMEs ไทยให้เข้มแข็งและสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาตามแนวทาง BCG Model โดยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเสียตลอดทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ กระทรวงฯ เตรียมอัดฉีดเม็ดเงินสินเชื่อจากกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐจำนวนกว่า 2,500 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 1% ต่อปี เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณาการระบบอัตโนมัติ (System Integrator : SI) และผู้เชี่ยวชาญจากเครือข่ายศูนย์เทคโนโลยีความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) คอยวิเคราะห์กระบวนการผลิตและให้คำปรึกษาเทคโนโลยี เมื่อ SMEs ตัดสินใจลงทุนแล้ว ยังสามารถนำมูลค่าการลงทุนไปขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 3 ปี หรือนำเงินลงทุนในส่วนของเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 5 รอบบัญชี ส่วนของผู้ผลิตเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ (AMB) และผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณาการระบบอัตโนมัติภายในประเทศ จะได้รับยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ สำหรับนำมาผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้มีหารือร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI) และสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) เพื่อยกระดับผู้ผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติและผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณาการระบบอัตโนมัติ โดยพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม และทดสอบวัดระดับตามมาตรฐานสากล และมีแผนยกระดับขีดความสามารถด้านระบบอัตโนมัติ( Automation) ให้กับผู้ผลิตเครื่องจักร ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ และผู้ประกอบการ SI ทั่วประเทศ รวมถึงการให้บริการภายในกระทรวงฯ เพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 โดยปฏิรูปองค์กรไปสู่การเป็นรัฐบาลอัจฉริยะ (Smart Government) เป็นต้น
ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีเป้าหมายยกระดับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยให้ไทยเป็นผู้นำการผลิตและใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของอาเซียนภายในปี 2569 โดยมีเป้าหมายให้ปี 2564 เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ SI ในประเทศจาก 200 รายเป็น 1,400 ราย ลดการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจากต่างประเทศไม่น้อยกว่า 30% และโรงงานอุตสาหกรรมมีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 50%