xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ชี้ช่องส่งออกเครื่องสำอาง ขายคนหนุ่มสาว-เด็กชาวจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทูตพาณิชย์ชิงเต่า” เผยสินค้าเครื่องสำอางไทยมีโอกาสเจาะตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น หลังคนหนุ่มสาวให้ความสำคัญต่อความสวยความงาม และเด็กมีงานแสดง กิจกรรม และการแข่งขันเพิ่มขึ้น แนะผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มนวัตกรรมเพิ่มสร้างความแตกต่าง ใช้ผู้มีชื่อเสียงในการทำตลาด และเจาะผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ย้ำต้องศึกษากฎระเบียบเครื่องสำอางให้ชัดเจนด้วย

น.ส.ชนิดา อินปา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงเต่า สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดเผยว่า สำนักงานฯ ได้ทำการสำรวจช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการไทย ตามนโยบาย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยพบโอกาสในการส่งออกเครื่องสำอางของไทยเข้าสู่ตลาดจีน มีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการของผู้บริโภคหนุ่มสาวที่ให้ความสำคัญต่อความสวยความงาม ส่งผลให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น และยังมีการเติบโตของตลาดเครื่องสำอางสำหรับเด็กที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการมีงานแสดง เทศกาล กิจกรรม และการแข่งขันต่างๆ ในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ผลจากความต้องการเครื่องสำอางที่สูงขึ้นทำให้ยอดค้าปลีกขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2016 มีมูลค่า 222,200 ล้านหยวน หรือประมาณ 1.11 ล้านล้านบาท ปี 2020 ขยับเป็น 340,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท และในช่วงครึ่งปี 2021 มีมูลค่า 191,700 ล้านหยวน หรือประมาณ 958,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.6% และในปี 2021 คาดการณ์มูลค่าตลาด 478,100 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.39 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.79% และในปี 2023 จะมีมูลค่า 512,500 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.56 ล้านล้านบาท ขณะที่ตลาดเครื่องสำอางสำหรับเด็ก ในปี 2020 มีมูลค่า 4,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 139,400 ล้านบาท คาดว่าในปี 2025 จะเพิ่มเป็น 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 238,000 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท iiMedia Research บริษัทที่ปรึกษาวิจัยการตลาดจีน ได้รายงานผลสำรวจตลาดและการบริโภคเครื่องสำอางของผู้บริโภค พบว่าผู้บริโภคกว่า 50% มีค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอยู่ที่ระหว่าง 200-1,000 หยวนต่อเดือน หรือประมาณ 1,000-5,000 บาทต่อเดือน โดยผู้บริโภคเพศหญิงมีค่าใช้จ่ายระหว่าง 500-1,000 หยวนต่อเดือน หรือประมาณ 2,500-5,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ผู้บริโภคเพศชายมีค่าใช้จ่ายประมาณ 200-500 หยวนต่อเดือน หรือประมาณ 1,000-2,500 บาทต่อเดือน โดยผลิตภัณฑ์เช็ดทำความสะอาดผิวหน้าเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ผู้บริโภคชาวจีนใช้มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ แผ่นมาสก์หน้า และโลชั่น โดยผู้บริโภคอายุระหว่าง 31-40 ปี เป็นผู้บริโภคหลักของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหน้า โลชั่น และเซรัม และผู้บริโภคอายุระหว่าง 26-30 ปี เป็นผู้บริโภคหลักของผลิตภัณฑ์มาสก์หน้า ครีมกันแดด และน้ำตบ โทนเนอร์

“ปัจจุบันเครื่องสำอางกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันสำหรับคนรุ่นใหม่ชาวจีน ตลาดเครื่องสำอางจีนจึงเป็นตลาดที่ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะเห็นได้จากยอดขายปลีกในช่วงครึ่งปี 2021 มีการขยายตัวสูงถึง 26.6% และยังสอดคล้องกับการนำเข้าสิ่งปรุงแต่งที่ใช้แต่งเสริมความงามหรือแต่งหน้า และสิ่งปรุงแต่งสำหรับบำรุงรักษาผิว รวมถึงสิ่งปรุงแต่งที่ใช้ทากันแสงแดดหรือทำให้ผิวคล้ำ สิ่งปรุงแต่งที่ใช้แต่งเล็บมือหรือเล็บเท้าของจีนจากไทยในช่วงครึ่งปีของปี 2021 ที่เพิ่มขึ้นถึง 95.96% แสดงให้เห็นว่าสินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการ และมีโอกาสที่จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอีก” น.ส.ชนิดากล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะเข้ามาขยายตลาดเครื่องสำอางในจีนจะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทันสมัย และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้บริโภคชาวจีนรุ่นใหม่ และในการทำตลาดต้องกำหนดกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมกับผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม เช่น พิจารณาร่วมมือกับผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่นในการประชาสัมพันธ์สินค้า ซึ่งยังคงเป็นเครื่องมือการตลาดที่ยังคงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคชาวจีนในปัจจุบัน รวมทั้งแสวงหาช่องทางในการเจาะตลาดอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้สินค้าไทยสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทุกระดับทุกเพศทุกวัย ซึ่งจะทำให้การขยายตลาดส่งออกเข้าสู่ตลาดจีน โดยเฉพาะในเมืองท่าเศรษฐกิจ และเมืองรองที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจของจีนเมืองใหม่ๆ มีโอกาสขยายตัว และสามารถสร้างการรับรู้ในสินค้าไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ต้องศึกษาระเบียบและมาตรการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของจีนที่มีความเข้มงวดมากขึ้น เช่น กฎระเบียบในการจัดการและควบคุมข้อมูลทะเบียนวัสดุใหม่สำหรับเครื่องสำอาง มาตรการในการจัดการการลงทะเบียนเครื่องสำอาง เกณฑ์การประเมินคุณภาพของเครื่องสำอาง และกฎระเบียบในการดูแลและควบคุมเครื่องสำอางสำหรับเด็ก


กำลังโหลดความคิดเห็น