“คมนาคม” ดีเดย์ มี.ค. 65 ขยายความเร็ว 120 กม./ชม.เฟส 3 อีก 8 เส้นทาง “ราชพฤกษ์, นครอินทร์” เปิดเลนขวาวิ่งฉิวตลอดสาย ทล.-ทช.-ขบ.MOU ดึงเงิน กปถ. 503 ล้านบาทปรับปรุงอุปกรณ์ความปลอดภัย “ศักดิ์สยาม” ตั้งเป้าวิ่งได้ทั่วประเทศภายใน 4 ปี
วันนี้ (15 ก.ย.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนระหว่างกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยกำหนดใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. บนทางหลวงที่มีขนาด 4 ช่องจราจรขึ้นไป
นายศักดิ์สยามเปิดเผยว่า จากที่กระทรวงคมนาคมได้ออก “กฎกระทรวง กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564” ซึ่งต่อมาได้เปิดให้ผู้ขับขี่รถใช้ความเร็ว 120 กม./ชั่วโมง บนทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน ถึงทางต่างระดับอ่างทอง เป็นเส้นทางแรก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา และระยะที่ 2 ได้ประกาศใช้เพิ่มอีก 6 เส้นทาง เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งในภาพรวมได้รับความร่วมมือจากประชาชนผู้ใช้เส้นทางเป็นอย่างดีในการใช้ความเร็วในแต่ละช่องทางตามที่กำหนด
ในการกำหนดเส้นทางใดใช้ความเร็ว 120 กม/ชม.นั้น จะต้องมีการปรับปรุงเพิ่มมาตรฐานทางกายภาพให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นก่อน โดยพบว่าเส้นทางที่กำหนดให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.เฟส 1 และ 2 นั้นมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลงประมาณ 15% เมื่อเทียบจากช่วงปี 2562 โดยประเมินจากปริมาณจราจรในปี 2564 ที่มีการเดินทางลดลงจากสถานการณ์โควิด เหลือประมาณ 60% ดังนั้น โครงการจึงช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุและการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้ตามสมมติฐาน
ทั้งนี้ จะขยายความเร็ว 120 กม./ชม. ในระยะที่ 3 จำนวน 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 152 กม. โดยจะเริ่มในเดือน มี.ค. 2565 โดยเป็นของกรมทางหลวง 6 เส้นทาง ระยะทาง 87.972 กม. ได้แก่ 1. ทล. 1 ช่วงหนองแค-หินกอง-ปากข้าวสาร-แยกสวนพฤกษศาสตร์พุแค กม.79+000 - 105+000 ระยะทางประมาณ 26 กม. 2. ทล.9 ช่วงบางแค-คลองมหาสวัสดิ์ กม.23+000 - 31+872 ระยะทางประมาณ 8.872 กม. 3. ทล.347 ช่วงเทคโนโลยีปทุมธานี-ต่างระดับเชียงรากน้อย กม.1+000 - 10+000 ระยะทางประมาณ 10 กม. 4. ทล.35 ช่วงนาโคก-แพรกหนามแดง กม.56+000 - 80+600 ระยะทางประมาณ 24.6 กม. 5. ทล.4 ช่วงเขาวัง-สระพระ กม.160+000 - 167+000 ระยะทางประมาณ 7 กม. 6. ทล.4 ช่วงเขาวัง-สระพระ กม.172+000 - 183+500 ระยะทางประมาณ 11.5 กม.
ถนนของกรมทางหลวงชนบท 2 เส้นทาง ระยะทาง 64.1 กม. ได้แก่ 1. นบ.3021 (ถนนราชพฤกษ์) ตลอดเส้นทาง ระยะทางประมาณ 51.7 กม. 2. นบ.1020 (ถนนนครอินทร์) ตลอดเส้นทาง ระยะทางประมาณ 12.4 กม. ซึ่งในระหว่างนี้จะต้องเพิ่มมาตรฐานทางกายภาพให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) จำนวน 503 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย อุปกรณ์ที่ช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ เช่น ปรับปรุงเครื่องหมายจราจรบนผิวทาง ติดตั้งป้ายจราจร ป้ายเตือน ป้ายจำกัดความเร็ว ก่อสร้างกำแพงคอนกรีต (Barrier) และแถบชะลอความเร็ว (Rumble Strip) ตลอดจนติดตั้งระบบขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transportation System) และระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการการจราจร และสามารถควบคุม กำกับ ดูแลการใช้ความเร็วของผู้ใช้รถใช้ถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ปัจจุบัน กปถ.มีเงินสะสมอยู่ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท จึงไม่กระทบต่อภารกิจอื่นของกองทุน สาเหตุที่ต้องขอสนับสนุนเงินจาก กปถ.เพื่อดำเนินการในเฟส 3 เนื่องจากปี 2565 ไม่ได้รับงบด้านความปลอดภัย นอกจากนี้ให้นโยบายเพิ่มเติมเรื่องความสะดวกของประชาชนสองฝั่งถนน เช่น ก่อสร้างสะพานข้ามถนน ที่สามารถให้รถจักรยาน รถจักรยานยนต์ ข้ามได้ด้วย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายจะดำเนินการเรื่องความเร็ว 120 กม./ชม. ถนนที่มี 4 ช่องจราจรทั่วประเทศ ที่ยังไม่มีเกาะกลางถนนที่เป็นแบริเออร์ รวมระยะทาง 12,000 กม. โดยมีแผนที่จะให้ใช้ความเร็ว 120 กม./ชม.ครบทั้งหมดภายใน 4 ปี ซึ่งจะของบประมาณดำเนินการปรับปรุงความปลอดภัยตั้งแต่ปี 2566 เฉลี่ยปีละ 2,000-3,000 กม.