ส.อ.ท.หนุนรัฐเร่งใช้เงิน 4 แสนล้านบาทกระตุ้น ศก.ปลายปีนี้ พร้อมแนะให้เตรียมวงเงินกู้เพิ่มเติมไว้อีก 1 ล้านล้านบาทสตาร์ทเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยปี 2565 ต่อเนื่องหวังการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วไม่อยากเห็นเครื่องยนต์ดับๆ ติดๆ ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวยิ่งล่าช้า เผยหากรัฐบาลปรับ ครม.ขอรัฐมนตรีที่จะเข้ามามีความสามารถ เป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะทีม ศก.
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.สนับสนุนแนวทางของ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ที่เตรียมงบประมาณราว 4 แสนล้านบาทเพื่ออัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเห็นว่าควรจะเร่งดำเนินการใช้เงินดังกล่าวภายในสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกันควรที่จะเร่งเตรียมหาเงินกู้สำรองไว้อีก 1 ล้านล้านบาทเพื่อที่จะดึงมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในต้นปี 2565 ให้ต่อเนื่องเพื่อเร่งผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2565 ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
“เอกชนเห็นว่าปี 2565 จำเป็นต้องอัดเม็ดเงินเพื่อจุดสตาร์ทเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทั้งหมดให้ติดได้เลยจึงจำเป็นต้องใช้เงินอีกราว 1 ล้านล้านบาท โดยต้องเร่งทำให้ต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางปีหน้าเพื่อให้เห็นผลที่ชัดเจนในครึ่งปีหลังของปี 2565 เพราะหากเม็ดเงินที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่มากพอเครื่องยนต์จะดับๆ ติดๆ ก็จะยิ่งส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่จะกลับไปเหมือนก่อนเกิดโควิด-19 ยิ่งล่าช้ามากขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะเป็นการเสริมเม็ดเงินรายได้ของระบบเศรษฐกิจไทยที่หายไปจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 นับตั้งแต่ปี 2563-65 ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบคิดเป็นเงินประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้กู้เงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจรวมแล้ว 1.5 ล้านล้านบาท และเหลืออีกราว 4 แสนล้านบาทที่จะใช้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ดังนั้นจึงเหลือวงเงินอีกราว 1.1 ล้านล้านบาทที่รัฐจำเป็นต้องเร่งเติมเต็มสภาพคล่องในทุกส่วนทั้งประชาชน และเอสเอ็มอี ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ส.อ.ท.จึงเสนอให้กู้เงินมาอีกขั้นต่ำ 1 ล้านล้านบาทเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม เม็ดเงิน 4 แสนล้านบาทที่รัฐเตรียมไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะสอดรับกับการที่ไทยมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมายการฉีดเข็มแรกที่ 50 ล้านคนในเดือน ต.ค.และจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง ส.อ.ท.คาดหวังว่าการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบ 2 เข็มได้เร็วและเป็นวัคซีนที่ป้องกันสายพันธุ์ใหม่ๆ ก็จะยิ่งสร้างภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นต่อทั้งประชาชนและเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายเศรษฐกิจปี 2565 จะเติบโตได้ค่อนข้างสูง เมื่อรวมกับเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐต้องวางมาตรการให้ดีและต่อเนื่อง
“จำนวนวัคซีนที่ประชาชนได้รับ และวงเงินที่รัฐจะกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสตาร์ทเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยให้ติดแล้วไปต่อแบบก้าวกระโดดได้ในปี 2565 แต่ปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสจะเป็นบวกเล็กน้อยเพราะการลงทุน และส่งออกที่เติบโต” นายเกรียงไกรกล่าว
นายเกรียงไกรกล่าวว่า แม้สัญญาณเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลกแต่ก็ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องพึงระวังและรับมือ ที่สำคัญคือ 1. ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่รุนแรง เช่น มิว ว่าประเทศต่างๆทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดมากน้อยเพียงใดซึ่งรวมถึงไทยด้วยเช่นกัน 2. เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ที่ล่าสุดเกิดความไม่แน่นอนขึ้นและมีกระแสข่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)
“ปัจจัยการเมืองขณะนี้ถือว่าเริ่มกลับมายังจุดที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเอกชนคงไม่ให้น้ำหนักเท่ากับมาตรการด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นหากจะมีการปรับ ครม.ขอเพียงแค่รัฐมนตรีที่แต่งตั้งมาเป็นบุคคลที่มีความสามารถ เป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ” นายเกรียงไกรกล่าว