สนค. ถอดบทเรียนนโยบายแก้จนจีน พบใช้อินเทอร์เน็ต เทคโนโลยี และเพิ่มพูนความรู้ในการทำธุรกิจให้กับเกษตรกรและประชาชน เป็นหัวหอกหลัก แนะไทยต้องเรียนรู้และนำมาปรับใช้ เพื่อช่วยเกษตรกร ผู้ผลิตชุมชน และ SMEs ที่เป็นฐานรากของประเทศ
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษานโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของจีน ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้ให้ศึกษาและถอดบทเรียนจากประเทศต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในการดำเนินนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ผลิตสินค้าชุมชนของไทย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจการค้าฐานรากของไทยต่อไป โดยพบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนแก้ไขปัญหาความยากจนได้รวดเร็ว มาจากการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน และการร่วมมือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะอาลีบาบาในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีโอกาสในการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
ทั้งนี้ จีนยังมีนโยบายในการผลักดันให้ประชาชนในประเทศเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ซึ่งปัจจุบันคนในชนบทสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเข้าไปช่วยเพิ่มพูนความรู้ในการทำธุรกิจให้กับเกษตรกรและประชาชน ทำให้มีโอกาสในการค้าขาย และมีรายได้เพิ่มขึ้น
“ปัจจัยสำคัญในการเอาชนะความยากจนของจีน คือ การที่รัฐบาลมีนโยบายภาพใหญ่ที่ชัดเจน และสามารถแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด การร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี การติดอาวุธความรู้ในการทำธุรกิจให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้การทำการค้าออนไลน์ได้จากถิ่นกำเนิดหรือที่อยู่ของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายเข้าสู่เมือง ทำให้ช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของคนในชนบท เนื่องจากจีนมีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีฤดูกาลที่แตกต่างกัน มีสินค้าเกษตรที่หลากหลาย และมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจจำนวนมากที่สามารถนำเสนอให้คนทั่วประเทศรู้จัก เกิดรูปแบบธุรกิจและบริการใหม่ ๆ มากมาย” นายภูสิตกล่าว
นายภูสิตกล่าวว่า จากบทเรียนทั้งหมดของจีน เป็นบทเรียนสำคัญที่นอกจากไทยจะต้องเรียนรู้แล้ว ยังต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการทั้งในระดับวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และ SMEs ที่เป็นกลุ่มคนฐานรากของประเทศ และต้องการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต รวมถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ครอบคลุมทุกพื้นที่
นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จำเป็นจะต้องยกระดับภาคเกษตรไทยไปสู่เกษตรนวัตกรรม และเกษตรมูลค่าสูง โดยยกระดับไปสู่การทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและกลุ่มคนในระดับฐานรากให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ สนค. ได้เดินหน้านำเทคโนโลยีมาใช้ในการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ผลิตชุมชน และ SMEs อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดทำข้อมูลสารสนเทศเชิงลึกด้านเศรษฐกิจการค้า (TIS) เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดนโยบายช่วยเหลือ และใช้ในการวางแผนทำธุรกิจ และการผลักดันนำระบบบล็อกเชนมา ใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร เป็นต้น