xs
xsm
sm
md
lg

4 องค์กรหลักถกแก้ขยะติดเชื้อพุ่ง เล็งร่วมมือหมู่บ้าน คอนโดฯ วางถังแดงรองรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



4 องค์กรหลัก ส.อ.ท. ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาฯ กทม. และผู้ประกอบการอสังหาฯ หารือ 6 ก.ย. หวังเร่งแก้ไขปัญหาขยะติดเชื้อทั้งหน้ากากอนามัย ชุด ATK หลังการเกิด Home Isulation ทำให้ขยะติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่การคัดแยกเพื่อนำไปเผากำจัดให้ถูกวิธียังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร หวั่นเล็ดลอดสู่สิ่งแวดล้อม เล็งดึงหมู่บ้านจัดสรร คอนโดฯ หอพัก นำร่องใน กทม.วางถังแดงให้ลูกบ้านทิ้งขยะติดเชื้อและประสานรถขยะมารับไปกำจัด

นายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 6 กันยายนนี้ 4 องค์กรหลัก ได้แก่ กลุ่มพลาสติก ส.อ.ท., ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย ฯลฯ จะหารือเพื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะติดเชื้อภายในบ้านที่อยู่อาศัย อาคารคอนโดมิเนียม หอพัก ฯลฯ ที่ขณะนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นหลังจากที่รัฐกำหนดให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่รุนแรงกักตัวที่บ้าน (Home Isulation) แต่การบริหารจัดการขยะติดเชื้อยังขาดประสิทธิภาพ

“โควิด-19 รอบแรกนั้นขยะติดเชื้อไม่มีปัญหาเพราะโรงพยาบาลสามารถจัดการตามระบบได้อยู่แล้วเพราะเตียงยังเพียงพอรับผู้ป่วยเข้ารับรักษาได้ ระลอก 2 ก็เริ่มมีปัญหามากขึ้นโดยเฉพาะหน้ากากอนามัย (Mask) ที่คนต้องใช้สูงเริ่มก่อปัญหาที่ขยะเล็ดลอดหลุดไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติรบกวนสัตว์น้ำ แต่ระลอก 3 นี้เกิด Home Isulation เพราะโรงพยาบาลไม่พอ ซึ่งไม่เพียงแค่หน้ากากอนามัย แต่ยังมีชุดตรวจโควิด-19 เร่งด่วน (ATK) เป็นขยะติดเชื้อที่ถูกทิ้งเพิ่มขึ้น ซึ่งหากจัดการไม่ดีจะสร้างปัญหาทั้งสิ่งแวดล้อมและการติดเชื้อเพิ่มได้” นายอภิภพกล่าว

ทั้งนี้ ขยะติดเชื้อจำเป็นต้องนำกำจัดด้วยวิธีการเผาเท่านั้น และที่ผ่านมาขยะเหล่านี้จะอยู่ในโรงพยาบาลที่มีระบบกำจัดรองรับไว้แล้วเป็นหลัก แต่เมื่อโควิด-19 ทำให้ขยะเหล่านี้กลายมาอยู่ในภาคบ้านที่อยู่อาศัยมากขึ้น แต่ปัจจุบันการคัดแยกขยะยังจัดการไม่ได้ผลนักเพราะแม้บางบ้านจะใส่ Mask และ ATK ในถุงแดงแต่สุดท้ายก็จะไปกองรวมกันในถังขยะทั่วไปกลายเป็นขยะปกติที่จะไปกองรวมในหลุมฝังกลบ กทม. ซึ่งมีโอกาสเล็ดลอดไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกสูง เบื้องต้นจะเสนอนำร่องใน กทม. โดยขอความร่วมมือในการให้ทางหมู่บ้านจัดสรร นิติบุคคลจัดหาถังแดงมาวางไว้เพื่อให้ลูกบ้านมาทิ้งขยะติดเชื้อแล้วประสานรถ กทม.มารับไปกำจัดแบบวันต่อวันหรือมากสุด 2 วันครั้ง ซึ่งปัจจุบันรถขยะ กทม.จะบริการรับขยะติดเชื้ออยู่แล้วแต่ขาดการเชื่อมต่อกัน

นายอภิภพกล่าวว่า ข้อสรุปคงต้องรอการหารือในรายละเอียดอีกครั้งว่ามีข้อเสนออย่างไรเพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง และหากเป็นไปได้ต้องมองภาพปัญหาขยะติดเชื้อรวมทั้งประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้รัฐและผู้พัฒนาอสังหาฯ ได้เห็นพ้องต้องกันว่าจะปรับปรุงกฎหมายอาคารชุดที่ต่อไปจะต้องไม่สร้างปล่องรับขยะจากด้านบนแต่ให้ลูกบ้านเดินลงมาทิ้งขยะด้านล่างเอง โดยมีการแยกถังขยะแต่ละประเภทให้ชัดเจน แต่เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เสียก่อนจึงทำให้แนวทางดังกล่าวยังไม่คืบหน้า

“ขยะติดเชื้อไม่เพียงมีมากขึ้นเพราะโควิด-19 แต่ขยะพลาสติกเองก็เช่นกันเพราะการอยู่บ้านทำให้คนไทยหันมาใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ซึ่งมีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นส่วนใหญ่ แนวโน้มปัญหาขยะของไทยจะมีมากขึ้น หากไม่เร่งจัดการจะกลายเป็นปัญหาที่แก้ไขยากขึ้น ดังนั้นการคัดแยกขยะเพื่อกำจัดถูกวิธีคือคำตอบที่ดีสุด” นายอภิภพกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น