ส.อ.ท.เปิดผลสำรวจ FTI Poll ภายใต้หัวข้อ “Lockdown อย่างไรเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสาธารณสุข” พบผู้บริหารส่วนใหญ่มองมาตรการล็อกดาวน์ควบคุมได้ในขอบเขตจำกัดเพราะยังไม่เข้มงวดกฎหมายทำให้เกิดการลักลอบแรงงานต่างด้าวเข้ามา ส่วนแนวทางที่จะสร้างสมดุลคือการผ่อนปรนมาตรการโดยอนุญาตให้เปิดธุรกิจบางประเภทได้
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 9 ในเดือนสิงหาคม 2564 ภายใต้หัวข้อ “Lockdown อย่างไรเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสาธารณสุข” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ มองว่ามาตรการล็อกดาวน์ที่ภาครัฐดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนั้นสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ในขอบเขตที่จำกัด สาเหตุเกิดจากความไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น กรณีการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท.เห็นว่าควรมีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ให้ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มสามารถเข้าใช้บริการร้านอาหารและกิจการบางประเภทได้ ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการติดตามประวัติการเดินทาง ควบคุมผู้มีความเสี่ยง และระบบรับรองผู้ได้รับวัคซีน 2 เข็ม (Certificate of Entry) รวมทั้งมีการตรวจและติดตามเชิงรุกเพื่อคัดแยกตัวผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังเสนอให้ภาครัฐเร่งใช้งบประมาณในการจัดหาและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจโควิด-19 Antigen test kit ให้แก่โรงงานเพื่อสุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อตามมาตรการ Bubble and Seal ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในภาคอุตสาหกรรม
จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 201 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 75 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 9 จำนวน 7 คำถาม ดังนี้
1. มาตรการ Lockdown ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน สามารถแก้ปัญหาการแพร่ระบาดได้ในระดับใด พบว่าควบคุมการแพร่ระบาดได้ในขอบเขตที่จำกัด คิดเป็น 78.1% 2.สาเหตุใดที่ส่งผลทำให้มาตรการ Lockdown ไม่สามารถควบคุมอัตราการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พบว่า ขาดความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย 72.6% ความไม่ชัดเจนในแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ 65.2% ขาดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน 60.2% ขาดมาตรการสนับสนุนสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนอยู่กับบ้าน 52.2%
3. แนวทางใดจะช่วยทำให้การ Lockdown เกิดความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสาธารณสุข พบว่า ควรผ่อนปรนให้ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มสามารถเข้าใช้บริการได้ 73.6% นำเทคโนโลยีมาใช้ในการติดตามประวัติการเดินทาง 69.7% ควบคุมผู้มีความเสี่ยง และระบบรับรองผู้ได้รับวัคซีน 2 เข็ม การตรวจและติดตามเชิงรุกเพื่อคัดแยกตัวผู้ป่วยออกจากสังคม68.7% อนุญาตให้เปิดธุรกิจบริการบางประเภท 68.2%
4. ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown ควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร พบว่าส่วนใหญ่ต้องการให้พักชำระหนี้และหยุดคิดดอกเบี้ยสำหรับกิจการที่ถูกสั่งปิด สัดส่วน 81.1% เป็นระยะเวลา 6 เดือน ชดเชยค่าจ้างขั้นต่ำตามจำนวนแรงงานให้แก่ผู้ประกอบการ 75.1% เพื่อรักษาการจ้างงาน สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการประกอบการแก่ SME ในอัตรา 50% คิดเป็นสัดส่วน65.7% (มาตรการคนละครึ่ง-ภาค SME) เป็นต้น
5. การผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ควรเริ่มดำเนินการเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดอยู่ในระดับใด
อันดับที่ 1 : ผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 10,000 คนต่อวัน 36.8% อันดับที่ 2 : ผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 20,000 คนต่อวัน 26.4%
อันดับที่ 3 : ผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 5,000 คนต่อวัน 24.9% 6. รัฐควรผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในกลุ่มธุรกิจใดบ้างเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ อันดับที่ 1 : ร้านอาหาร 91.0% อันดับที่ 2 : ห้างสรรพสินค้า และร้านค้า 80.6% อันดับที่ 3 : การท่องเที่ยวภายในจังหวัด 70.1% เป็นต้น
7. การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณในเรื่องใด อันดับที่ 1 : จัดหาและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจ ATK 91.0% ให้แก่โรงงาน เพื่อสุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อตามมาตรการ Bubble and Seal อันดับที่ 2 : จัดให้มี Mobile Units ฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ณ สถานประกอบการ 72.1% อันดับที่ 3 : สนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้ง Factory Quarantine 70.6% และ Factory Accommodation Isolation ภายในโรงงาน เป็นต้น