รฟม.ปักธงเร่งประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มหลังศาลจำหน่ายคดีบีทีเอสฟ้อง ลุ้นโควิดคลี่คลาย ต.ค.นี้ขายซองเปิดชิงดำใหม่ คาด มี.ค. 65 ได้ตัวผู้ร่วมทุน พร้อมปรับแผนเร่งงานระบบเปิดด้านตะวันออกกลางปี 68 ส่วนสีม่วงใต้ซื้อซองแล้ว 8 รายทั้งไทย และต่างชาติ คาดสรุปใน ม.ค. 65
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า หลังจากเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2564 ที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ที่ให้ใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมกันแล้วแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้น ในส่วนของรฟม.จะเดินหน้าในการประมูลคัดเลือกตามขั้นตอน ซึ่งได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) ประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวนร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนแล้ว
เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ยังมีความรุนแรง ประกอบกับ พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่บังคับใช้กับกรณีการคัดเลือกเอกชน และจะต้องบรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในข้อตกลงคุณธรรม ดังนั้น หากสถานการณ์คลี่คลาย รฟม.จะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนทันที โดยคาดการณ์จะสรุป TOR และออกประกาศเชิญชวนเอกชนได้ในเดือน ต.ค. 2564 และสรุปผลการพิจารณาคัดเลือก และได้ตัวผู้ร่วมทุนประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย. 2565
ผู้ว่าฯ รฟม.ยอมรับว่าการประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้าจากแผน แต่ยังสามารถเร่งรัดได้ โดย รฟม.ปรับแผนงานให้เอกชนเข้าดำเนินการติดตั้งระบบของสายสีส้มด้านตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) ทันที เนื่องจากขณะนี้งานโยธาของด้านตะวันออกมีความก้าวหน้าไปมากแล้ว ซึ่งจะสามารถเปิดเดินรถด้านตะวันออกได้ตามแผนช่วงกลางปี 2568 ส่วนด้านตะวันตกจะเร่งรัดการก่อสร้างและติดตั้งระบบ ซึ่งตามแผนจะเปิดให้บริการหลังจากเปิดด้านตะวันออกไปแล้วประมาณ 3 ปี หรือเปิดช่วงปี 2571
@เอกชนไทย-เทศ 8 รายซื้อซองประมูลสีม่วงใต้ คาด ม.ค. 65 ได้ผู้รับจ้าง
สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) นั้น ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า รฟม.ได้ดำเนินการเปิดขายเอกสารประกวดราคาก่อสร้างงานโยธาจำนวน 6 สัญญา ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. 2564 จนถึงวันที่ 7 ต.ค. 2564 โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ส.ค. 2564) มีผู้ที่สนใจซื้อเอกสารประกวดราคาฯ แล้วทั้งสิ้น 8 ราย โดยแบ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทย 6 ราย และต่างชาติ 2 ราย
โดยกำหนดยื่นเอกสารประมูลวันที่ 8 ต.ค. 2564 ใช้เวลาประเมินข้อเสนอถึงปลายเดือน ธ.ค. 2564 คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างทั้ง 6 สัญญาในเดือน ม.ค. 2565
ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ฯ รฟม.ได้ลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ความร่วมมือป้องกันและต่อต้านการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 โดยการดำเนินการในทุกขั้นตอนของการประกวดราคาฯ เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ มติ ครม.และประกาศที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการดำเนินงานที่รัฐจะได้รับโครงการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด คุ้มค่า โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
สำหรับกรณีที่มีการนำเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ในประเด็นการกำหนดให้ใช้ผลงานที่เป็นของหน่วยงานรัฐภายในประเทศไทยเพียงอย่างเดียวนั้น ที่ผ่านมาการประมูลก่อสร้างงานโยธาของ รฟม.ได้ใช้วิธีประกวดราคานานาชาติภายใต้ข้อบังคับ รฟม.ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 ในขณะที่การประกวดราคางานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ เป็นการประกวดราคานานาชาติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ประกอบกับการวินิจฉัยตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ที่ กค (กวจ) 0405.3/24575 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 กรณีผลงานกับรัฐให้หมายถึงผลงานกับรัฐบาลไทย
ทั้งนี้ การกำหนดให้ผู้รับจ้างต้องมีผลงานกับรัฐบาลไทย เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ต้องมีการออกแบบก่อสร้างอุโมงค์และสถานีใต้ดินในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสภาพธรณีวิทยาที่มีคุณสมบัติเฉพาะสถานที่โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชั้นใน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญๆ และโบราณสถานต่างๆ มากมาย จึงต้องการผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์ผ่านการก่อสร้างและประสานงานในโครงการก่อสร้างประเภทเดียวกันในประเทศไทยมาแล้ว ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่าผลงานที่แล้วเสร็จมีคุณภาพ เชื่อถือได้ ในขณะที่การอ้างอิงผลงานต่างประเทศจะตรวจสอบข้อมูลโครงการได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นประเภทงาน มูลค่าผลงานที่แท้จริง คุณภาพของผลงานที่แล้วเสร็จ รวมถึงประเด็นปัญหาระหว่างดำเนินการก่อสร้างและการที่ไม่ได้กำหนดให้ผู้รับจ้างสามารถใช้ผลงานเอกชนที่ รฟม.เชื่อถือได้นั้น
เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้า หรือโครงการระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่มีผลงานประเภทเดียวกันกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ในประเทศไทยมีหน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของโครงการทั้งหมด ดังนั้น รฟม.จึงไม่ได้พิจารณาให้ใช้ผลงานจากหน่วยงานเอกชนซึ่งสอดคล้องกับระเบียบกระทรวงการคลังฯ ที่กำหนดให้หน่วยงานพิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสมหรือจำเป็น ส่วนการกำหนดเกณฑ์ประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคประกอบเกณฑ์ราคาในสัดส่วน 30:70 นั้น เนื่องจากแนวเส้นทางผ่านสถานที่สำคัญและอ่อนไหวหลายแห่ง เช่น รัฐสภาแห่งใหม่ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย วัดต่างๆ รวมถึงพื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิคทางวิศวกรรมในการออกแบบและก่อสร้างขั้นสูงจากผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์และมีสมรรถนะสูงเพียงพอเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดและสามารถดำเนินงานก่อสร้างให้สำเร็จลุล่วงเป็นไปตามแผน
การกำหนดเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอของผู้เข้าร่วมประกวดราคา โดยใช้เกณฑ์ด้านเทคนิคประกอบเกณฑ์ราคามีจุดประสงค์เพื่อให้การดำเนินโครงการได้รับประโยชน์ที่เกิดขึ้นในทุกๆ ด้าน ไม่ใช่เพียงจุดประสงค์ทางด้านราคาที่ต่ำเพียงอย่างเดียว โดยจะต้องพิจารณาประกอบกับข้อเสนอด้านเทคนิคที่มีความเหมาะสมหรือดีที่สุดด้วยเป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 65 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 ข้อ 83 (2) ประกอบกับหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว198 เรื่องแนวทางการปฏิบัติในการจัดทำร่างขอบเขตของงาน กรณีหน่วยงานของรัฐกำหนดเกณฑ์การพิจารณาโดยใช้เกณฑ์ราคาประกอบเกณฑ์อื่นเพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีศักยภาพสูงเพียงพอ และมีความเหมาะสมที่จะสามารถดำเนินงานได้สำเร็จตามแผนงานและมีคุณภาพภายใต้กรอบงบประมาณที่กำหนดไว้
ซึ่งมีตัวอย่างโครงการที่ใช้เกณฑ์ด้านเทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา เช่น โครงการงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) สนามบินสุวรรณภูมิ งานจ้างปรับปรุงระบบตรวจสอบวัตถุระเบิด และงานจ้างปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระในโครงการพัฒนา สนามบินสุวรรณภูมิ การจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
รวมถึงในโครงการร่วมลงทุนสาธารณูปโภคของภาครัฐขนาดใหญ่ เช่น โครงการทางด่วนขั้นที่ 2 และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (โครงการทางด่วนสายแจ้งวัฒนะ-บางพูน-บางไทร) โครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมของกรุงเทพมหานคร ซึ่งใช้เกณฑ์คะแนนรวมด้านเทคนิคกับผลตอบแทนด้านการเงิน รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ก็ใช้เกณฑ์การประเมินคะแนนรวมด้านเทคนิคกับด้านผลตอบแทนเช่นกัน