รฟม.ชี้แจงเงื่อนไขประมูลรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ “เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ” เปิดกว้าง ชี้ที่ปรึกษาตรวจสอบเกณฑ์ผลงานโยธาใต้ดิน ยกระดับ ระบบราง มีต่างชาติหลายรายมีผลงานเข้าประมูลแข่งกับผู้รับเหมาไทยได้
วันนี้ (31 ก.ค.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปืดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชน อ้างอิงถึงข้อความใน Facebook ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ในหัวข้อ “ขอดเกล็ดรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ประมูลแบบนานาชาติ แต่ผู้รับเหมาต่างชาติกระอัก” นั้น
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงประเด็นทีโออาร์กำหนดว่าผู้เข้าประมูลจะต้องมีผลงานกับ “รัฐบาลไทย” ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ดังนี้
รฟม.ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 โดย รฟม.พิจารณาดำเนินการโดยวิธีประกวดราคานานาชาติ (International Competition Bidding : ICB) ทั้งนี้ ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 รวมถึงกฎกระทรวง ประกาศและหนังสือเวียน ที่ออกตาม พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวข้างต้น
ซึ่งในการกำหนดผลงานของผู้เข้าประมูลนั้น รฟม.ได้กำหนดไว้ว่าต้องเป็นผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่จะดำเนินการจัดจ้างก่อสร้าง โดยกำหนดวงเงินผลงานไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินงบประมาณ หรือวงเงินที่จะจ้างก่อสร้าง และเป็นผลงานในสัญญาเดียว ซึ่งเป็นไปตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 214 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ การกำหนดผลงาน การระบุคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุหรือยี่ห้อของพัสดุ และการพิจารณาคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอของหน่วยงานของรัฐกรณีการกำหนดสิ่งที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ข้อ 1.1.4
ส่วนการกำหนดว่าต้องเป็นผลงานกับรัฐบาลไทยนั้น เป็นการกำหนดตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่ กค (กวจ) 0405.3/24575 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เรื่อง ข้อหารือความหมายคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุว่า “ผลงานที่ผู้ยื่นข้อเสนอเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็น “หน่วยงานรัฐ” ตามนัยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติฯ เท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงหน่วยงานของรัฐในต่างประเทศแต่อย่างใด”
ทั้งนี้ การกำหนดว่าต้องมีผลงานกับรัฐบาลไทยนั้น จากข้อเท็จจริงที่กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา BMTP (ที่ปรึกษาของ รฟม.) ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่ามีผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาต่างชาติที่มีผลงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินกับรัฐบาลไทยอย่างน้อย 5 ราย และผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาไทยที่มีผลงานกับรัฐบาลไทยอีกอย่างน้อย 5 ราย ส่วนผลงานสำหรับโครงการยกระดับ มีผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาต่างชาติอย่างน้อย 2 ราย และผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาไทยอีกอย่างน้อย 12 ราย ส่วนผลงานสำหรับงานระบบราง มีผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาต่างชาติอย่างน้อย 1 ราย และผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาไทยอีกอย่างน้อย 4 ราย
ซึ่งการกำหนดให้ต้องเป็นผลงานกับรัฐบาลไทยเป็นไปตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างฯ โดยมีผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาต่างชาติและผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาไทยสามารถเข้าร่วมประมูลได้มากราย รวมทั้งทีโออาร์ยังเปิดกว้างให้ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาต่างชาติสามารถเป็น Lead Firm (ผู้เข้าร่วมค้าหลัก) ในกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ได้ ทั้งนี้ต้องเข้าร่วมกับผู้ประกอบการคนไทย โดยผู้ประกอบการคนไทยต้องถือหุ้นรวมกันมากกว่าร้อยละ 50
โดย รฟม.ได้เปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีราคากลางที่ 78,713.17 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 งานโยธา โครงการใต้ดิน ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ ระยะทาง 4.8 กิโลเมตร ราคากลาง 1.85 หมื่นล้านบาท
สัญญาที่ 2 งานโยธา โครงการใต้ดิน ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้าฯ ระยะทางประมาณ 2.4 กิโลเมตร ราคากลาง 1.51 หมื่นล้านบาท
สัญญาที่ 3 งานโยธา โครงการใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้าฯ-สะพานพระพุทธยอดฟ้า ระยะทางประมาณ 3.1 กิโลเมตร ราคากลาง 1.44 หมื่นล้านบาท สัญญาที่ 4 งานโยธา โครงการใต้ดิน ช่วงสะพานพระพุทธยอดฟ้า-ดาวคะนอง ระยะทางประมาณ 4.1 กิโลเมตร ราคากลาง 1.43 หมื่นล้านบาท
สัญญาที่ 5 งานโยธา โครงการยกระดับ ช่วงดาวคะนอง-ครุใน ระยะทางประมาณ 9.0 กิโลเมตร ราคากลาง 1.27 หมื่นล้านบาท
สัญญาที่ 6 งานออกแบบควบคู่งานก่อสร้างระบบราง ราคากลาง 3.42 พันล้านบาท
โดยขายเอกสารประกวดราคา ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 จนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2564
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เป็นโครงการรถไฟฟ้าที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างนนทบุรี กับกรุงเทพมหานครฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี รวมถึงสมุทรปราการเข้าด้วยกัน มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กิโลเมตร 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 10 กิโลเมตร 7 สถานี โดยมีแผนจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างในปี 2565 และเปิดให้บริการในปี 2570