กบร.เร่ง กพท.ทำแผนระยะสั้นและระยะยาวรองรับการฟื้นตัวการบิน พร้อมขยายความช่วยเหลือสายการบินถึงปี 65 ด้าน กพท.นัดหารือทุกฝ่ายทำโรดแมปฟื้นอุตฯ การบินทั้งระบบ จ่อออกใบรับรองสนามบินสาธารณะให้สนามบินเบตง ก.ย.นี้ ส่วนนกแอร์เตรียมบินเช่าเหมาลำ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ครั้งที่ 8/2564 วันที่ 11 ส.ค. 2564 ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าแผนงานที่เป็นรูปธรรมสำหรับประเทศไทยในการเตรียมความพร้อมรองรับให้อุตสาหกรรมการบินกลับมาเป็นปกติในช่วง 2-4 ปีข้างหน้า ตามข้อมูลการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เพื่อวางแผนระยะสั้นและแผนระยะยาวให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการบินสามารถเตรียมพร้อมรับโอกาสทางเศรษฐกิจเมื่อการบินกลับมาเป็นปกติได้ทัน และการเดินหน้าพัฒนาระบบการบินทุกมิติเพื่อให้ไทยสามารถรักษาสถานะความเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาค และพร้อมเป็นศูนย์กลางสำคัญของโลกในระยะยาว
การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กบร.ยังคงตรึงนโยบายให้ความช่วยเหลือสายการบินในช่วงวิกฤต COVID-19 ต่อไปอีกจนถึงสิ้นปี 2564 และคาดว่าจะขยายมาตรการช่วยเหลือต่อไปอีกหากสถานการณ์ยังไม่ฟื้นตัวในปี 2565
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศที่อาจเกิดขึ้น จากกรณีที่สายการบินประสบสภาวะวิกฤตและยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเพียงพอจนบางรายอาจไม่สามารถประคับประคองให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จึงให้ CAAT เป็นเจ้าภาพดำเนินการโดยร่วมกับสายการบินจัดทำรายงานการวิเคราะห์และความจำเป็นที่สายการบินจะต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะวงเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ที่สายการบินร้องขอความช่วยเหลือในขณะนี้ รวมถึงการหารือร่วมกับผู้ประกอบการทุกภาคส่วนเพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันให้มากที่สุด
CAAT ได้รายงานว่า ภายในเดือนสิงหาคมนี้จะเป็นเจ้าภาพร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการบินหารือครั้งใหญ่เพื่อรับฟังปัญหา จัดทำแนวทางกำหนด Roadmap และเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมการบินของไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ และเตรียมความพร้อมด้านการบินของประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาวร่วมกันเพื่อรองรับการฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะการบินที่ปกติ
สำหรับการติดตามผลการประเมินสถานการณ์สำหรับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่ประชุม กบร.ได้สั่งการเน้นย้ำการให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และให้ CAAT วางแผนจัดทำมาตรการด้านการบินที่รัดกุมไปพร้อมกับการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อรองรับหากเกิดการขยายโครงการแซนด์บ็อกซ์ไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยให้ถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
ทั้งนี้ ให้ CAAT ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการและจังหวัดต่างๆ ประชุมหารือในเดือนสิงหาคมนี้เพื่อประเมินผลการดำเนินงานและการจัดการด้านการบินที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง หลังมีการขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ครอบคลุม 29 จังหวัด
@กพท.พร้อมออกใบรับรองให้สนามบินเบตงใน ก.ย.นี้
นอกจากนี้ กบร.ได้ติดตามความคืบหน้าการเปิดใช้สนามบินเบตง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยและการจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับสนามบิน หากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญและสนามบินได้รับอนุมัติ/อนุญาตในเรื่องที่เกี่ยวข้องสมบูรณ์แล้ว คาดว่า CAAT จะพิจารณาออกใบรับรองสนามบินสาธารณะให้สนามบินเบตงได้ในเดือนกันยายน 2564
เบื้องต้นมีสายการบินนกแอร์ที่เสนอแผนทำการบินแบบเช่าเหมาลำแล้ว และอาจจะเริ่มทำการบินเมื่อสนามบินเปิดใช้งาน โดยเป็นเที่ยวบินเชื่อมต่อจากสนามบินหาดใหญ่และเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพมหานคร โดย กบร.ได้เน้นย้ำให้ CAAT และสายการบินที่สนใจศึกษา วางแผนความต้องการเดินทางของผู้โดยสารในเส้นทางที่จะใช้สนามบินเบตงอย่างรัดกุม เพื่อให้สนามบินสามารถมีจำนวนผู้ใช้บริการตามเป้าหมายและประกอบกิจการได้ในระยะยาว
ทั้งนี้ กบร.ยังได้ติดตามและเร่งรัดให้ CAAT เร่งดำเนินการเพื่อจัดทำหลักเกณฑ์การอนุญาตโดรนขนาดใหญ่ (น้ำหนักเกิน 25 กิโลกรัมขึ้นไป) ที่มีวัตถุประสงค์การใช้งานเพื่อการเกษตร ซึ่งเริ่มมีผู้ยื่นขออนุญาตเข้ามาเป็นจำนวนมาก และได้รับรายงานว่าขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วและเตรียมนำเสนอตามขั้นตอน คาดว่า กบร.จะสามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบได้ภายในการประชุมครั้งหน้า (เดือนกันยายน 2564)
อย่างไรก็ตาม CAAT ได้รายงานความคืบหน้าในการพัฒนางานด้านการบริหารข่าวสารการบินของประเทศเพื่อก้าวเข้าสู่ระบบการบริหารข่าวสารการบินที่เชื่อมโยงกับระบบข้อมูลข่าวสารการบินได้ทั้งระบบทั่วโลก (SWIM หรือ System-Wide Information Management) ซึ่งจะทำให้ระบบการเดินอากาศของประเทศไทยพัฒนาไปอีกขั้นตามแผนการเดินอากาศสากลของ ICAO และของภูมิภาค ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการเปิดให้นิติบุคคลเข้ายื่นขอรับการรับรองเป็นผู้ให้บริการข่าวสารการบิน (Aeronautical Information Service Provider) แทน CAAT พร้อมการเตรียมการด้านอื่นๆ เพื่อยกระดับงานข่าวสารการบินของไทยให้เป็นระบบดิจิทัลทั้งหมดสำหรับรองรับการพัฒนาระบบการเดินอากาศของประเทศในอนาคตอันใกล้