xs
xsm
sm
md
lg

พนักงาน รฟท.ยื่น “นิรุฒ” สอบ “ผอ.ฝ่ายโดยสาร” แฉขาดความรู้ มีพฤติกรรมเรียกรับผลประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนรถไฟสุดทน ยื่น “นิรุฒ” ตรวจสอบพฤติกรรม “ผอ.ฝ่ายโดยสาร” และผู้ใกล้ชิดร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ แต่งตั้งไม่เป็นธรรม เรียกรับผลประโยชน์ ทำให้พนักงานแตกแยก หมดขวัญกำลังใจ ขาดความรู้ความสามารถ สั่งหยุดเดินรถซ้ำเติมประชาชน

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อเดือน พ.ย. 2563 กลุ่มพนักงานขบวนรถโดยสารและผู้ปฏิบัติงานในฝ่ายบริการโดยสาร ได้ยื่นหนังสือถึง นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. ร้องเรียนเรื่องการแต่งตั้งพนักงานขบวนรถ และการกระทำที่ไม่ชอบของฝ่ายบริการโดยสาร ซึ่งทำให้พนักงานเกิดความอึดอัด กังวลใจ และขอให้ผู้ว่าฯ รฟท.ตรวจสอบพฤติกรรมของผู้อำนวยการฝ่ายการโดยสารและผู้ใกล้ชิด

ในหนังสือร้องเรียนระบุว่า ขณะนี้การบริหารงานในฝ่ายบริการโดยสารกำลังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่เละเทะเป็นอย่างมาก เช่น มีการนำเงินทดรองมาจ่ายค่าปรับปรุงห้องทำงานของผู้อำนวยการฝ่ายโดยสาร (อดส.) และบริวาร การให้สิทธิ์คนใกล้ชิดกระทำการเกินอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะการแต่งตั้งพนักงานขบวนรถไม่มีความเป็นธรรม ถูกแทรกแซงจากคนใกล้ชิด ที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ มีการเรียกรับผลประโยชน์เพื่อแต่งตั้งคนของตนเองและพรรคพวก แต่งตั้งโยกย้ายโดยดูว่าใครเป็นพรรคพวก ใครจ่ายเงิน ใครประจบสอพลอเก่ง จะได้รับการแต่งตั้งก่อนเสมอแม้จะมีอาวุโสน้อยกว่า แต่งตั้งข้ามหัวรุ่นพี่รุ่นน้องไม่สนใจกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ซึ่งเรื่องเกิดขึ้นตั้งแต่การรถไฟฯ ได้แต่งตั้ง นายประสิทธิ์ ถาวร เป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริการโดยสาร (อดส.) โดยไม่คำนึงถึงความรู้ ความสามารถ ความอาวุโส การแต่งตั้งไม่เป็นไปตามเกณฑ์ โดยแต่งตั้งจากอิทธิพลทางการเมืองบีบบังคับ โดยไม่ตรวจสอบประวัติการทำงานมาก่อนว่าเป็นผู้มีความรู้ด้านโดยสารหรือไม่ ซึ่งผู้ว่าฯ รฟท.อาจไม่ทราบแต่เรื่องนี้พนักงานรถไฟฯ รู้ดีว่าผู้อำนวยการฝ่ายบริการโดยสารคนปัจจุบันได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในการแต่งตั้งพนักงานในฝ่ายฯ เพื่อให้เป็นมือเป็นเท้าและเพื่อหาผลประโยชน์ให้

โดยได้เสนอให้แต่งตั้งคนสนิทจากหัวหน้าแผนกบุคคล (ผบค.) ไปเป็นหัวหน้ากองบริหารงานทั่วไป (กบป.) โดยไม่ดูความรู้ความสามารถ เพื่อให้ไปรองรับการแต่งตั้งพนักงานในฝ่ายบริการโดยสาร ขณะที่บุคคลดังกล่าวมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายประการ เช่น เรียกรับผลประโยชน์ในการแต่งตั้งพนักงานรักษารถ (พรร.) พนักงานห้ามล้อ (พหล.) โดยร่วมมือกับพนักงานในแผนกปฏิบัติการโดยสารจัดการส่งรายชื่อตามที่มีการวิ่งเต้นให้ผลประโยชน์ ให้ ผอ.ฝ่ายบริการโดยสารลงนามคำสั่ง

ดังนั้น การแต่งตั้งพนักงานขบวนรถจึงเกิดความไม่เป็นธรรม ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์และเคยมีการยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งมาแล้วหลายครั้ง การกระทำดังกล่าวส่งผลให้พนักงานเกิดความแตกแยกอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการโยกย้ายหัวหน้าแผนกการเช่าและบริหารสัญญา (ผชญ.) ไปเป็นหัวหน้าแผนกควบคุมการสำรองที่ (ผคส.) ซึ่งเคยเป็นผู้ถูกลงโทษเรื่องทุจริตเรียกรับเงินจากผู้โดยสารมาแล้ว แต่กลับให้มาควบคุมการขายตั๋วกับบริษัททัวร์ที่มีประโยชน์มหาศาล

ฝ่ายบริการโดยสาร เป็นหัวใจในการหารายได้ให้การรถไฟฯ พนักงานขบวนรถเป็นหนึ่งในฟันเฟืองในการปฏิบัติงานด้านบริการ และมีจำนวนมาก หากมีการแต่งตั้งไม่เป็นธรรมทำให้พนักงานแตกแยก หมดขวัญกำลังใจ พนักงานถูกเอาเปรียบจากผู้บังคับบัญชา

@เซ็ง! ผู้บริหารไม่จริงใจแก้ปัญหา รองผู้ว่าฯ เดินรถส่งเรื่องร้องเรียนให้ ผอ.ฝ่ายบริการโดยสารตรวจสอบตัวเอง

แหล่งข่าวจาก รฟท.กล่าวว่า หลังจากได้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว นายนิรุฒ ผู้ว่าฯ รฟท.ได้ส่งเรื่องต่อให้ นายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการ กลุ่มธุรกิจการเดินรถในฐานะผู้กำกับดูแลโดยตรง ดำเนินการ ซึ่งพบว่านายสุชีพ รองผู้ว่าฯ รฟท.ได้มีหนังสือสั่งการต่อไปที่นายประสิทธิ์ ถาวร ผอ.ฝ่ายบริการโดยสาร ตรวจสอบทั้งที่นายประสิทธิ์เป็นผู้ถูกร้องเรียน กลายเป็นให้ผู้ถูกร้องเรียนนั้นตรวจสอบตัวเอง

@แฉสั่งหยุดเดินรถ 158 ขบวนสุดมั่ว อ้างต้องทำให้ประชาชนลำบากมากๆ จะได้ไม่เดินทาง

แหล่งข่าวจาก รฟท.กล่าวว่า ในช่วงนี้โรคโควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรง ซึ่ง ศบค.ประกาศควบคุมเข้มงวด และขอความร่วมมือประชาชนงดการเดินทางในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ 21.00-04.00 น.นั้น ล่าสุด รฟท.ได้มีประกาศงดให้บริการ 158 ขบวน เหลือวิ่งแค่ 78 ขบวน/วัน ซึ่งพบว่าการหยุดบริการรถไฟหลายเส้นทางโดยเฉพาะรถไฟทางไกล ส่งผลให้ประชาขนเดือดร้อนมาก เช่น รถไฟสายใต้ที่หยุดวิ่งแค่ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 2 ทุ่ม ทำให้คนที่ต้องเดินทางไปยังหาดใหญ่ สงขลา ยะลา เดือดร้อนเพราะต้องเสียค่าที่พักเพื่อรอต่อรถตอนเช้า จึงพบว่ามีประชาชนต้องทนนั่งรอที่สถานีรถไฟจนถึงเช้า

ที่ผ่านมามีประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนขอให้ รฟท.เดินรถสายใต้ไปยังหาดใหญ่, ยะลา, สุไหงโก-ลก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องเดินทางหลายต่อ ขณะที่ บขส. เครื่องบิน หยุดบริการหมด แต่ รฟท.ไม่มีการพิจารณาใดๆ จึงถือเป็นการซ้ำเติมประชาชนให้ลำบากมากขึ้น เพราะสถานการณ์ปัจจุบันหากไม่จำเป็นจริงๆ ประชาชนก็ไม่เดินทางอยู่แล้ว

แหล่งข่าวจาก รฟท.กล่าวว่า ผอ.ฝ่ายบริการโดยสาร รฟท.เป็นผู้กำหนดตารางการหยุดเดินรถทั้งหมด เมื่อมีการคัดค้านจะอ้างว่าทำตามประกาศ ศบค. และได้รับมอบอำนาจจากนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท.มาแล้ว อีกทั้งยังมักจะกล่าวว่าต้องให้ประชาชนลำบากซะบ้างจะได้ไม่เดินทางกัน

@ไม่ดิ้นรนแสวงหารายได้ทดแทน สิ้นปีแบมือของบรัฐอุดหนุน

แหล่งข่าวกล่าวว่า รถไฟเป็นบริการพื้นฐาน แต่การกำหนดตารางเดินรถโดยขาดความรู้ ความสามารถ ไม่เพียงประชาชนเท่านั้นที่เดือดร้อน แต่ได้ส่งผลกระทบไปถึงการขนส่งสินค้าทางการเกษตรในพื้นที่ภาคใต้ ที่ขณะนี้ผลไม้จำนวนมากกำลังจะออกสู่ตลาด แต่เมื่อไม่มีรถไฟบริการ ชาวสวนจึงเดือดร้อนมาก ก่อนหน้านี้มีการเสนอให้ รฟท.จัดขบวนรถไฟพิเศษสำหรับขนส่งผลไม้ แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งๆ ที่ รฟท.ควรใช้โอกาสนี้ที่การเดินทางของผู้โดยสารลดลง หันไปวิ่งบริการด้านผลไม้เพื่อสร้างรายได้ทดแทนได้แต่ก็ไม่ทำ เพราะไม่เดือดร้อนอะไร เนื่องจากรัฐจัดงบอุดหนุนขาดทุนทุกปีอยู่แล้ว

“ผู้ว่าฯ รฟท.ต้องเร่งแก้ปัญหานี้ หาก รฟท.มีแต่ผู้บริหารที่ขาดความรู้ ความสามารถ ขาดวิสัยทัศน์ เน้นระบบพวกพ้อง เห็นแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์องค์กร มีการทุจริตคอร์รัปชันต่อหน้าที่ สุดท้ายองค์กรอาจล่มสลาย เพราะรัฐไม่อาจอุ้มอีกต่อไปได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น