กรมเจ้าท่าเร่งขุดลอกร่องน้ำกะแดะ-ท่าม่วง และกาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ระยะทางรวม 2,350 เมตร แก้สันดอนตื้นเขิน เพื่อความปลอดภัยเดินเรือ รักษาระบบนิเวศ สร้างรายได้ชาวประมง
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการขุดลอกร่องน้ำกะแดะ-ท่าม่วง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัย และรวดเร็วในการเดินเรือ เพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการทำประมง ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ช่วยรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และป้องกันน้ำกัดเซาะชายฝั่ง Coastal erosion
สำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ กรมเจ้าท่า มีหน้าที่ดูแลรักษาและขุดลอกร่องน้ำทางเดินเรือ แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบและทะเลภายในน่านน้ำไทย ตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 เนื่องจากสภาพลำน้ำและร่องน้ำมีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ โดยได้รับอิทธิพลจากสภาพภูมิอากาศ พายุฝน และคลื่นลมมรสุม ทำให้ร่องน้ำเกิดการตกตะกอนเป็นสันดอนตื้นเขิน ตลิ่งถูกกัดเซาะต้องได้รับการขุดลอกและบำรุงรักษาให้ร่องน้ำมีสภาพที่เหมาะสมในการใช้งาน ระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก ป้องกันการเกิดอุทกภัย โดยการขุดลอกต้องดำเนินการด้วยวิธีที่เหมาะสม ทั้งการออกแบบร่องน้ำ เครื่องจักรอุปกรณ์การขุดลอก วิธีการขุดลอก และการจัดการวัสดุที่เหมาะสม
จากสภาพปัญหาดังกล่าว กรมเจ้าท่า สำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 6 ได้เปิดหน่วยปฏิบัติงานขุดลอกร่องน้ำกะแดะ-ท่าม่วง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ใช้เรือเจ้าท่า ข.402 รถขุด สฎ.3 เรือเจ้าท่า ป.301 เรือเจ้าท่า ป.302 ดำเนินการขุดลอกร่องน้ำท่าม่วง อำเภอท่าชนะ ขุดลอกกว้าง 15 เมตร ลึก 1.0 เมตร (จากระดับน้ำลงต่ำสุด) ระยะทาง 950 เมตร ปริมาณดิน 51,276 ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันขุดลอกได้ระยะทาง 650 เมตร คิดเป็นร้อยละ 68.42
และร่องน้ำกะแดะ อำเภอกาญจนดิษฐ์ ขุดลอกกว้าง 15 เมตร ความลึก 1.5-2 เมตร (จากระดับน้ำลงต่ำสุด) ระยะทาง 1,000 เมตร ปริมาณเนื้อดิน 84,545 ลูกบาศก์เมตร โดยองค์การบริหารส่วนตำบลพลายวาสประสงค์ขอเพิ่มระยะทางขุดลอก 400 เมตร ความลึก 1.5 เมตร ปัจจุบันได้ระยะทาง 820 เมตร คิดเป็นร้อยละ 82 รวมปริมาณดินที่ขุดลอก 135,821 ลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ขุดได้ปริมาณดิน 105,260 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 77.50 คาดแล้วเสร็จเป็นไปตามแผนงาน
อย่างไรก็ตาม การคมนาคมขนส่งทางน้ำเป็นการขนส่งที่ใช้กันมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำ และในปัจจุบันปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มที่สูงขึ้น รัฐบาลจึงได้มอบนโยบายในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำและกิจการพาณิชยนาวี ทั้งภายในและระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)