กรมทางหลวงเร่งสูบน้ำแก้น้ำท่วมอุโมงค์ลอดมอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-โคราช” ช่วงกลางดง เผยแผนแก้ถาวร ยกระดับผิวทางลอด/ติดตั้งบ่อพักน้ำและระบบสูบน้ำ เผยตอนก่อสร้างชาวบ้านเรียกร้องขออุโมงค์ทางลอดแทนแบบเดิมที่เป็นสะพานข้าม และได้แจ้งปัญหาน้ำท่วมหากฝนตกหนักไปแล้ว
กรมทางหลวง (ทล.) ชี้แจงถึงกรณีที่มีสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ในกรณีประชาชนใน ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมอุโมงค์ทางลอดใต้ถนนมอเตอร์เวย์ ทำให้ไม่สามารถสัญจรได้อย่างสะดวก ซึ่งสาเหตุเกิดจากการที่กรมทางหลวงได้ก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา เนื่องจากแนวเส้นทางมอเตอร์เวย์ผ่ากลางหมู่บ้าน จึงมีการสร้างอุโมงค์ทางลอดเพื่อให้ประชาชนทั้งสองฝั่งสามารถสัญจรไป-มาได้ แต่เพราะอุโมงค์มีความลึก 3-4 เมตรจากระดับพื้นดินปกติ เมื่อฝนตกลงมา น้ำพร้อมดินโคลนจึงไหลเข้าไปท่วมอุโมงค์ โดยเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น
กรมทางหลวงชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ตำแหน่งทางลอดดังกล่าวอยู่ที่ กม.89+193 ในโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สาย 6 บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ซึ่งในระหว่างดำเนินการก่อสร้างมีการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ขอให้ทำทางลอดเพื่อเชื่อมชุมชนสองฝั่ง แทนการใช้ถนนบริการ หรือถนนท้องถิ่น แล้วไปกลับรถที่บริเวณใต้สะพานข้าม (Overpass) ที่ กม.90+125 ซึ่งห่างออกไปประมาณ 930 เมตร
กรมทางหลวงจึงได้พิจารณาแก้ไขแบบโดยปรับปรุงเป็นทางลอดที่ความสูงช่องลอด 3.50 เมตร เพื่อให้รถขนาดใหญ่วิ่งผ่านได้ ทั้งนี้ ในระหว่างการมีส่วนร่วมได้มีการแจ้งในเบื้องต้นแล้วว่ามีโอกาสที่น้ำจะท่วมทางลอดได้ในช่วงฝนตกหนัก ซึ่งอาจจำเป็นต้องหยุดใช้งานชั่วคราว
โดยมีแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหา ดังนี้
1. แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อเกิดฝนตกหนักได้ส่งรถสูบน้ำไปช่วยสูบน้ำ และขุดลอกดินออก ซึ่งอาจทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน สัญจรไม่สะดวก
2. กรมทางหลวงได้เร่งพิจารณาการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร ใน 2 แนวทางเลือก
โดยทางเลือกที่ 1 คือ การยกระดับผิวทางลอดประมาณ 1 เมตร ให้มีระดับสูงกว่าพื้นที่รอบข้าง และให้พ้นระดับน้ำท่วม ซึ่งจะทำให้ความสูงช่องลอดเหลือ 2.50 เมตร ซึ่งรถส่วนใหญ่ก็สามารถใช้สัญจรได้ตามปกติ ส่วนรถที่มีความสูงเกิน 2.50 เมตร ให้ไปใช้ทางหลวงหมายเลข 2220 ห่างจากจุดนี้ประมาณ 930 เมตร
ทางเลือกที่ 2 คือ การปรับปรุงระบบระบายน้ำ แนวทางนี้ความสูงช่องลอดคงไว้ได้ 3.50 เมตรเท่าเดิม แต่ต้องดำเนินการออกแบบ ติดตั้งระบบสูบน้ำ บ่อพักน้ำ และพื้นที่ทิ้งน้ำ ซึ่งต้องขอใช้พื้นที่นอกเขตทางหลวง รวมทั้งพิจารณาการบริหารจัดการ และการบำรุงรักษาระบบสูบน้ำต่อเนื่องในระยะยาว
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพื้นที่หน้างาน และพิจารณาในมิติต่างๆ ในเบื้องต้น เห็นควรปรับปรุงแก้ไขตามแนวทางเลือกที่ 1 แต่อย่างไรก็ตาม กรมทางหลวงจำเป็นต้องดำเนินการทำการมีส่วนร่วมประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุดต่อไป