“อนุทิน-ศักดิ์สยาม” ตรวจความพร้อมรถไฟขบวนพิเศษเที่ยวแรกส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 135 คน กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา 7 จังหวัดภาคอีสาน ยันปลอดภัย ปลอดเชื้อ รถไฟใหม่ระบบปิดทั้งหมด ปลายทางเตรียมพร้อมรถส่งต่อไม่ปะปนประชาชนทั่วไป
ช่วงเช้าวันนี้ (27 ก.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟรังสิต เพื่อตรวจความพร้อมของขบวนรถไฟในการจัดส่งผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเขต กทม.และจังหวัดปริมณฑล กลับไปเข้ารับการรักษาในจังหวัดภูมิลำเนาใน 7 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และนครราชสีมา โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดรถไฟเที่ยวพิเศษ ต้นทางสถานีรถไฟรังสิต-ปลายทางอุบลราชธานี ออกเดินทางจากสถานีรังสิตวันอังคารที่ 27ก.ค. 2564 เวลา 09.00 น. เป็นขบวนแรก
โดยกระทรวงคมนาคม รฟท. ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดขบวนรถพิเศษรองรับผู้ติดเชื้อโควิด (มีอาการระดับเขียว และเหลือง) กลับไปเข้ารับการรักษาอาการที่ 7 จังหวัดภูมิลำเนา
ทั้งนี้ ในกระบวนการจะมีรถรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากที่พักมายังสถานีรถไฟรังสิต ทำให้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น โดยขบวนรถไฟได้ออกจากสถานีรังสิตในเวลาประมาณ 12.00 น.ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนด แต่ทั้งนี้ ได้มีการประสานกับแต่ละจังหวัดที่จะต้องรับตัวผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่อ เพื่อปรับเวลาในการถึงแต่ละจุดให้ตรงกันแล้ว
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้รถไฟขบวนแรกจะมีการส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนาจำนวน 135 คน จัดให้นั่งตู้ละ 36 คน โดยรถไฟเป็นระบบปิดทั้งหมด โดยส่งผู้ป่วยโควิด-19 ลงตามพื้นที่ตั้งแต่สถานีนครราชสีมา จนถึงปลายทางอุบลราชธานี ซึ่งในแต่ละสถานีจะมีรถพยาบาลแต่ละจังหวัดรับตัวผู้ป่วยโควิดต่อไปยังโรงพยาบาลสนามหรือสถานีที่จัดเตรียมไว้ทันที ไม่ต้องกังวลในเรื่องการแพร่เชื้อใดๆ การจัดส่งเป็นระบบปิดทั้งหมด ไม่มีการปะปนกับประชาชนทั่วไป โดยมีคณะแพทย์ พยาบาลจำนวน 12 คน แบ่งเป็น 2 ทีม อยู่บนขบวนรถดูแลตลอดการส่งตัวผู้ป่วย
“ขอให้ประชาชนในจังหวัดที่รถไฟผ่านไม่ต้องกังวล เพราะผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่บนขบวนรถไฟจะไม่สามารถออกนอกรถ หรือแวะลงไปซื้อข้าวผัด ซื้อน้ำได้เหมือนปกติ ไม่ได้เลย ทุกอย่างอยู่ในระบบปิด มีเจ้าหน้าที่ดูแล มีรายชื่อผู้ป่วยโควิดที่โดยสารมาทั้งหมด ซึ่งกระทรวงคมนาคมพร้อมให้การสนับสนุนในการส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนาในทุกรูปแบบของระบบขนส่ง”
สำหรับโรงพยาบาลที่อยู่ปลายทาง ได้มีการเตรียมพร้อมจัดสถานที่รองรับผู้ป่วยโควิดจาก กทม.ที่จะกลับไปรักษาตัว ซึ่งอย่าเหมารวมว่าสถานการณ์ต่างจังหวัดตึงทั้งหมด เราพยายามใช้เครือข่ายที่มีทั้งหมด เพราะเราจะไม่ทอดทิ้งผู้ป่วย ต้องทำสุดความสามารถให้ผู้ป่วยเข้าถึงแพทย์เพื่อรับการรักษาทุกคน
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าจะยุติการฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อนั้น นายอนุทินกล่าวว่า วันนี้ (27 ก.ค.) เวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรีเรียกประชุม ศบค. รวมทั้งตนและ รมว.คมนาคม ไม่อยากให้กังวล ซึ่งที่สถานีกลางบางซื่อฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 1 ล้านคน เป็นการดำเนินการที่ดี ไม่มีเหตุผลที่จะยุบ กระทรวงสาธารณสุขพร้อมทุกอย่างด้วยความโปร่งใส จัดซื้อวัคซีน เวชภัณฑ์ ยาในสถานการณ์โควิด สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด สัญญาซื้อวัคซีน หากกฎหมายให้เปิดเผยได้ อธิบดีกรมควบคุมโรคก็สามารถเปิดเผยได้ อยู่ที่กฎหมายให้ทำได้หรือไม่ ทำได้แค่ไหน ซึ่งเรื่องทางการแพทย์เป็นเรื่องที่ต้องปกปิด เป็นเรื่องส่วนบุคคล ก็ให้ดูตามกฎหมาย
“สำหรับผมในฐานะ รมว.สาธารณสุข อะไรที่เป็นไปตามกฎหมายทำได้หมด ยิ่งเปิดให้รู้มากก็ยิ่งดี ทำให้ตัวเองมีความโปร่งใสมากขึ้น ไม่มีปัญหาอะไร”
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนนาคม กล่าวว่า เป็นการดำเนินการตามนโยบายพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในการประชุม ครม.ให้ รมต.ที่มีความสามารถในการช่วยส่งประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 ในระดับสีเหลือง สีเขียว สามารถกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาได้ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข บูรณาการกับจังหวัดปลายทางเพื่อส่งผู้ป่วยที่ลงทะเบียนคัดกรองกับ สปสช. และ สพฉ. โดยวางแผนในการจัดส่งเป็นระบบปิด สามารถควบคุมได้เป็นอย่างดี
สำหรับสถานีรังสิตซึ่งใช้เป็นสถานีต้นทางนั้น เนื่องจากรถไฟสายสีแดงจะเปิดให้บริการในวันที่ 2 ส.ค.นี้ ดังนั้นปัจจุบันจึงยังไม่มีผู้โดยสารทั่วไปเข้ามาที่สถานีรังสิต จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการปะปนกับผู้โดยสารทั่วไป
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท.กล่าวว่ ตามปกติรถไฟ 1 ตู้จะมี 70 ที่นั่ง ซึ่งในการส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะจัดที่นั่งในสัดส่วน 50% ตามมาตรการสาธารณสุข และแยกตู้สำหรับเจ้าหน้าที่ ทีมแพทย์ และผู้เกี่ยวข้อง ออกจากผู้ติดเชื้อโควิด และมีตู้เสบียง มีอาหารบริการอยู่บนขบวนรถ และในขบวนรถจะมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย พร้อมทั้งมีแผนรองรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน สามารถนำตัวผู้ป่วยส่งเข้าสู่การรักษาได้อย่างรวดเร็ว
นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จะแยกผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ตรวจยืนยัน แบบ RT-PCR (Polymerase chain reaction) เป็นการ Swab และตรวจเชื้อจากชุดทดสอบแอนติเจน Antigen Test Kit (ATK) ออกจากกัน เพราะกลุ่มตรวจจาก ATK จะต้องไปตรวจอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับรถไฟขบวนพิเศษที่นำมาส่งผู้ป่วยติดโควิด-19 ครั้งนี้เป็นรถไฟ CNR มีจำนวน 115 ตู้ เป็นรถไฟใหม่ของ รฟท. มีระบบปรับอากาศ ห้องน้ำสุญญากาศมีระบบบำบัดเหมือนเครื่องบินปลอดภัยอย่างมาก สามารถจัดบริการเป็นระบบปิดได้อย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมพร้อมจัดรถสำหรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาทุกวัน หากได้รับการประสานจากกระทรวงสาธารณสุข สปสช. โดยทั้ง รฟท. บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้เตรียมพร้อมรถไว้บริการทุกวัน