กรมรางคาด พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ บังคับใช้ปลายปี มี 10 หมวด 149 มาตรา กำกับมาตรฐานและการใช้ประโยชน์จากราง ผลักดันเพิ่มสัดส่วนขนส่งทางราง 30% ภายใน 3 ปี
กรมการขนส่งทางราง (ขร.) แจ้งว่า ขร.เดินหน้าผลักดันร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ.... ขึ้น โดยมุ่งหวังให้ระบบการขนส่งทางรางของไทยก้าวไกลสู่ระดับสากล ซึ่งร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ.... ได้จัดทำขึ้นเพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางมีโครงข่ายที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วประเทศ เชื่อมต่อกับการขนส่งระบบอื่น และประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการขนส่งทางราง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัยในการเดินทาง รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2560-2564 ที่ต้องการส่งเสริมการขนส่งทางรางให้เป็นระบบหลักของประเทศ เพิ่มการขนส่งทางรางร้อยละ 30 ภายใน 3 ปี และให้ทันสมัยก้าวทันเทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
โดยที่ผ่านมากรมการขนส่งทางรางในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการออก พ.ร.บ.ดังกล่าวได้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องตามขั้นตอนการเสนอร่างกฎหมาย ซึ่งมีผู้เห็นด้วยมากถึงร้อยละ 80-60
สำหรับร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ... มีบทบัญญัติทั้งหมด 10 หมวด ดังนี้
หมวด 1 คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง หมวด 2 การจัดทำโครงการการขนส่งทางราง หมวด 3 เขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัยระบบรถขนส่งทางราง หมวด 4 การกำกับดูแลการประกอบกิจการ หมวด 5 การสอบสวนอุบัติเหตุ หมวด 6 ผู้ตรวจการขนส่งทางราง หมวด 7 ผู้ประจำหน้าที่ หมวด 8 การจดทะเบียนรถขนส่งทางราง หมวด 9 การคุ้มครองผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ และหมวด 10 บทกำหนดโทษ ซึ่งรวมกับบทเฉพาะกาล
ร่างพระราชบัญญัตินี้จะมีมาตรารวมทั้งสิ้น 149 มาตรา โดยมีหลักการสำคัญเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง กำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัย การจัดสรรความจุ ตารางเวลาเดินรถและเส้นทาง การสอบสวนอุบัติเหตุและการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง โดยเมื่อร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. มีผลบังคับใช้จะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อการคมนาคมขนส่งทางรางดังนี้
1. มีกฎหมายเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรกำหนดให้กรมการขนส่งทางรางมีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางราง
2. มีคณะกรรมการระดับชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการกำหนดนโยบายและแผนด้านการขนส่งทางรางเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาด้านการขนส่งระบบอื่นๆ ให้เป็นโครงข่ายเดียวกันทั่วประเทศ
3. ส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งทางราง
4. ส่งเสริมให้มีการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้โดยสารในการกำหนดอัตราค่าโดยสารและค่าขนส่งสินค้าที่เป็นธรรม
5. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถขนส่งทางราง
6. กำหนดให้มีคณะกรรมการสวบสวนอุบัติเหตุ เพื่อค้นหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นอีก
ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ตามที่เสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางรางของประเทศ ตามภารกิจในการกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางรางของประเทศ โดยจะส่งร่างไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ อีกครั้ง จากนั้นจะส่งกลับมาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งร่างไปยังสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา 3 วาระ ก่อนจะส่งกลับมาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้งเพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย โดยคาดว่าภายในปลายปีนี้จะประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จะต้องดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งในเบื้องต้นได้เตรียมการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่มีความจำเป็นเร่งด่วนไว้แล้วจำนวน 17 ฉบับ โดยร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางมีกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.ประมาณ 57 ฉบับ ซึ่งจะเร่งดำเนินการจัดทำให้ครบถ้วนในระยะถัดไป เพื่อให้การดำเนินการตามภารกิจของกรมการขนส่งทางรางครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไปตามวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งกรมการขนส่งทางราง โดยร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... นับเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนระบบรางของไทยให้เทียบเท่าสากล ส่งเสริมเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการเเข่งขันของประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน