จริงๆ หลายคนคงเห็นผังน้ำมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะผังน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่กรมชลประทานนำเสนอบ่อยๆ แต่เป็นการนำเสนอง่ายๆ ในรูปลายเส้นตรง เป็นโครงข่ายมีทิศทางการไหลของน้ำ ระบุตัวเลขขีดความสามารถรับน้ำและระบายน้ำ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาในแต่ละช่วงตอน ประตูระบายน้ำในแม่น้ำน้อย คลองชัยนาท-ป่าสัก เป็นต้น
นิยามจริงๆ ของผังน้ำ เป็นเส้นทางไหลของน้ำจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยแสดงสิ่งก่อสร้างที่มีในลำน้ำ เช่น จากแม่น้ำปิงลงเขื่อนภูมิพล แล้วระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และอ่าวไทยในท้ายที่สุด โดยมีขนาดความกว้างของลำน้ำ ความสูงของตลิ่ง คันกั้นน้ำ เป็นองค์ประกอบของผังน้ำ
ผังน้ำมีความสำคัญ แต่ถูกละเลย เพราะไม่มีกฎหมายผังน้ำกำกับ คงมีแต่ผังเมืองเป็นตัวชูโรงแทน ตาม พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ. 2518 ออกแทน พ.ร.บ.ผังเมือง และผังชนบท พ.ศ. 2495 ตามการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองที่ยกเอาถนนเป็นเส้นทางหลัก แทนเส้นทางน้ำเดิม
เมื่อไม่มีกฎหมายกำกับ ผังน้ำที่ปรากฏอยู่ในความเป็นจริงจึงถูกบุกรุกจากประชาชนเข้าไปครอบครอง เป็นที่ทำกิน อาคารบ้านเรือน สิ่งก่อสร้างถาวร กลายเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำ ส่วนราชการเองก็มีส่วนไม่น้อยจากการวางระบบผังเมืองและถนน ที่กำหนดให้สะพาน ท่อลอดต่างๆ มีขนาดรองรับน้ำได้น้อยกว่ามวลน้ำยามน้ำหลาก กลายเป็นสิ่งกีดขวางน้ำไม่รู้ตัวโดยปริยายเช่นกัน
ตัวอย่าง บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ที่ไม่มีกฎหมายผังน้ำ พื้นที่นับแสนไร่จึงหายไปจากพื้นที่เดิมที่เคยประกาศไว้ เนื่องจากตะกอนทับถม ชาวบ้านเข้ามาบุกรุกเป็นที่ทำกิน ตลอดจนสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย และกลายเป็นสถานที่ราชการด้วย
เท่าที่สำรวจเบื้องต้น พบผังน้ำมีสิ่งกีดขวางไม่น้อยกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 กำหนดให้มีการจัดทำผังน้ำทั่วประเทศ โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นเจ้าภาพ ซึ่งขณะนี้เริ่มดำเนินการจัดทำใน 8 เส้นทางน้ำหลักในภาคกลาง และแม่น้ำชี-แม่น้ำมูลก่อน สทนช.ไม่เพียงดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำผังน้ำเท่านั้น หากยังเปิดเวทีให้ประชาชนตลอดเส้นทางน้ำได้พูดคุยหารือในมิติต่างๆ ทั้งผลกระทบในยามน้ำหลากและในหน้าแล้ง เพื่อออกแบบผังน้ำให้มีความยืดหยุ่น ทั้งแง่อนุรักษ์และใช้ประโยชน์พร้อมกัน
“ตัวอย่างคันกั้นน้ำ สูงไปก็บดบังทัศนียภาพ ต่ำไปก็กั้นน้ำหลากไม่ได้ ในบางพื้นที่เราชักน้ำหลากไปเก็บไว้ในสระในแก้มลิงเพื่อใช้ประโยชน์ในหน้าแล้ง จึงต้องพิจารณาผังน้ำในทุกมิติ ขณะเดียวกัน ในผังน้ำก็มีหน่วยราชการเกี่ยวข้อง เช่น การขุดลอกลำน้ำ มีทั้งกรมเจ้าท่าและกรมชลประทาน ขุดลอกแล้วทิ้งดินที่ไหนต้องชัดเจน ไม่ใช่กองริมตลิ่ง กรมโยธาธิการและผังเมือง หรือท้องถิ่นที่ดูแลตลิ่งและคันกั้นน้ำก็ต้องเกี่ยวข้อง ที่ผ่านมายังเป็นต่างคนต่างทำ การบริหารจัดการน้ำจึงยังเขย่งซ้อนทับ สิ้นเปลืองงบประมาณ และอาจแก้ไขปัญหาหนึ่ง แล้วไปสร้างอีกปัญหาแทน” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.กล่าว
พร้อมกับกล่าวว่า การกำหนดผังน้ำ มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนรับรู้ขอบเขตของทางน้ำ สทนช.จึงต้องฟังเสียงประชาชน ถ้ามีทางเลือกอื่นเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน เช่น การสร้างเส้นทางน้ำใหม่เลี่ยงเมือง (Bypass) ก็จะทำ ยกเว้นทำไม่ได้จริงๆ จึงค่อยเวนคืนเป็นทางเลือกสุดท้าย
“เราศึกษาทางเทคนิค ลักษณะทางกายภาพ ความสามารถในการรับน้ำ ระบายน้ำ จากนั้นเอาที่รับฟังความเห็นจากประชาชนมาปรับจูนเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย” เลขาธิการ สทนช.กล่าว
ดังนั้น ผังน้ำจึงเท่ากับเป็นการประกาศขอบเขตเส้นทางน้ำให้สาธารณชนรับรู้ล่วงหน้า ไม่ให้ละเมิดฝ่าฝืน โดยจะดำเนินการคู่ไปกับผังเมืองที่บริหารผังเมืองของกระทรวงมหาดไทยเช่นเดียวกัน โดยกำหนดว่า พื้นที่ใดก่อสร้างได้หรือไม่ และถ้าจะก่อสร้างต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและข้อกำหนดใดๆ เมื่อจัดทำผังน้ำเสร็จและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หน่วยงานปฏิบัติจะรับไปดำเนินการตามความเกี่ยวข้องต่อไป
ผังน้ำ นอกจากรื้อฟื้นเกียรติยศของเส้นทางน้ำแล้ว ยังเป็นการปฏิวัติวงการน้ำอีกครั้ง เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบควบคู่กับผังเมืองด้วย
เป็นผังน้ำที่ประสานกับผังเมืองเป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนดังที่เห็นในประเทศพัฒนาแล้ว หรือกระทั่งประเทศไทยที่รัฐบาลเริ่มดำเนินการไปก่อนแล้วในบางคลอง มองเห็นได้ถึงความสวยงาม สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ประชาชนเองก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน