นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ (HEC) ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันอัตราการรอเตียงใช้ระยะเวลามากขึ้นเนื่องจากอัตราการป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยโควิด-19 ถูกแบ่งเกณฑ์ตามอาการ เป็นกลุ่มเขียว เหลือง แดง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว สามารถใช้แนวทางการรักษาแบบกักตัวที่บ้าน (Home isolation) ตามที่กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขได้ออกไกด์ไลน์ไว้ หากมีขั้นตอนการดูแลที่ได้มาตรฐาน มียาพื้นฐานเบื้องต้น พร้อมกับใช้ระบบเทเลเมดิซีน
ที่มีแพทย์ดูแลระยะไกล จะทำให้ลดภาระเตียงในโรงพยาบาลไว้ให้สำหรับผู้ป่วยอาการหนักกว่าได้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโครงการ “Covid Home Care” ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อที่อยู่ที่บ้านในเบื้องต้น ให้สามารถกักตัวอยู่ที่บ้านได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการกักตัวที่บ้าน (Home isolation) ของกระทรวงสาธารณสุข
นายอารยะ โรจนวณิชชากร คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานเครือข่าย We Care Network กล่าวว่า ในสถานการณ์วิกฤตที่ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่สามารถเข้าถึงการรักษา การช่วยเหลือ ให้ผู้ติดเชื้อสามารถดูแลตนเองขั้นพื้นฐานได้เป็นสิ่งจำเป็น ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยสามารถเข้าโครงการ “Covid Home Care” ได้ต้องสมัครผ่านแอปพลิเคชัน Line OA ชื่อ “COVID-19 Home Care” มีหลักเกณฑ์คือ 1. ยืนยันตนเองด้วยการถ่ายรูป 2. ใบรับรองแสดงผลตรวจว่าติดเชื้อโควิด-19 และ 3. พบเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ผ่านออนไลน์เพื่อประเมินอาการ เมื่อผ่านทั้ง 3 ขั้นตอน ทางเครือข่ายฯ จะส่งชุด COVID-19 Care Box ซึ่งบรรจุสิ่งของจำเป็นช่วยเหลือทั้งด้านการเจ็บป่วยและความเป็นอยู่ในเบื้องต้น ประกอบด้วย
1. อุปกรณ์เวชภัณฑ์ เช่น ชุดตรวจวินิจฉัยแรพิดเทสต์ เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ ยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ ฟ้าทะลายโจร เจลแอลกอฮอล์ ฯลฯ
2. ชุดความรู้เกี่ยวกับการดูแลตัวเองและรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง 3. อาหารแห้งเพื่อยังชีพ ไม่ต้องออกไปซื้ออาหาร โดยเฟสแรกจะผลิตกล่อง COVID-19 Care Box จำนวน 1,000 กล่อง
“ในระหว่างกักตัว จะมีแพทย์อาสา ผู้เชี่ยวชาญ ให้บริการปรึกษาพูดคุยทั้งแบบวิดีโอคอล แชต ภาพถ่าย ผ่านช่องทาง Line OA เพื่อสอบถามอาการประจำวันและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับข้อกังวลของผู้ป่วย เพื่อประเมินและคัดกรองผู้ป่วย โดยผู้ป่วยที่มีอาการหนักจะประสานส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งระบบนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ มีความปลอดภัย ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้” นายอารยะกล่าว
นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) กล่าวว่า NT ได้สนับสนุนและร่วมพัฒนา Line OA ชื่อ “COVID-19 Home Care” เป็นการทำงานร่วมกับสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ (HEC) และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นช่องทางดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่เข้ากระบวนการกักตัวที่บ้าน เพื่อช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ โดย Line OA จะทำหน้าที่เป็นคลินิกออนไลน์ มีทีมแพทย์ให้คำปรึกษาและติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสังเกตอาการผู้ป่วยว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้ายลงหรือไม่ และจะมีระบบฉุกเฉินช่วยเหลือคนไข้ที่มีอาการเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้นเพื่อประสานส่งโรงพยาบาล โดยในช่วงแรกจะเป็นการทดลองระบบในการทำงาน เพื่อให้เห็นถึงจุดเด่นจุดด้อย เพื่อเราจะนำมาพัฒนาต่อให้ประชาชนสามารถใช้งานสะดวกยิ่งขึ้น หากไม่สามารถติดต่อหรือมีปัญหาในการติดต่อทางไลน์สามารถติดต่อช่องทางอื่นๆ เช่น call center ของโครงการ หรือ Facebook Fan page ได้
ทั้งนี้ ระบบ LINE OA จะเริ่มใช้งานได้เต็มรูปแบบในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นี้เป็นเฟสแรก และเมื่อมีผู้เข้าสู่ระบบตามขั้นตอนต่างๆ เสร็จสมบูรณ์ จะเริ่มคัดกรองผู้ป่วยและมีเจ้าหน้าที่จัดส่งกล่อง COVID-19 Care Box ให้แก่ท่านต่อไป หากหน่วยงาน ภาคเอกชน ประชาชนที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผ่านโครงการ “COVID-19 Home Care” ท่านสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ : We care network - เครือข่ายเราดูแลกัน ได้ตลอด 24 ชั่วโมง