xs
xsm
sm
md
lg

สนค.ชี้ช่องเติบโต “ชมพู่ไทย” แนะเกษตรกรพัฒนาคุณภาพ เพิ่มการแปรรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนค.ศึกษาแนวทางส่งเสริมสินค้า “ชมพู่” ของไทยเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร แนะเร่งประชาสัมพันธ์ชมพู่พันธุ์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นการบริโภค ส่วนเกษตรกรต้องเร่งพัฒนาคุณภาพ เพิ่มผลผลิต แปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และต้องรวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรอง และขายผลผลิตผ่านออนไลน์ ด้านรัฐต้องส่งเสริมแหล่งเพาะปลูกเป็นแหล่งท่องเที่ยว

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตและการทำตลาด “ชมพู่” ของไทย ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในด้านการยกระดับรายได้เกษตรกร และแนวทางการส่งเสริมการค้าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยพบว่าปัจจุบันไทยมีสายพันธุ์ที่นิยมเพาะปลูกและมีผลผลิตมาก ได้แก่ ชมพู่ทับทิมจันทร์ ชมพู่ทูลเกล้า ชมพู่เพชรสุวรรณ และชมพู่เพชร เป็นต้น มีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี เป็นต้น โดยในปี 2563 ที่ผ่านมามีเกษตรกรผู้ปลูกชมพู่ 4,573 ครัวเรือน มีพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 26,273 ไร่ มีปริมาณผลผลิต 48,579 ตัน

สำหรับด้านการทำตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ยังเป็นการจำหน่ายในประเทศ มีการส่งออกไปต่างประเทศในปริมาณไม่มากนักเมื่อเทียบกับผลไม้ส่งออกชนิดอื่น เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด เนื่องจากชมพู่ยังผลิตได้ไม่มากและการขนส่งที่ยาก เพราะเป็นผลไม้ที่เสียหายได้ง่ายในขั้นตอนการขนส่ง และยังไม่มีการแปรรูปเพื่อการส่งออก โดยในปี 2563 มีการส่งออกจำนวน 659.21 ตัน เพิ่มขึ้น 52.72% มีมูลค่า 739,348 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.47% โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง เวียดนาม อินโดนีเซีย จีน และลาว เป็นต้น

นายภูสิตกล่าวว่า แนวทางในการส่งเสริมและเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับชมพู่ของไทย จะต้องสร้างตลาดให้ผู้บริโภครู้จักชมพู่แต่ละสายพันธุ์เพื่อกระตุ้นการบริโภคเพื่อให้ประชาชนหรือผู้บริโภคทราบถึงความพิเศษและความเป็นมาของสินค้า ได้แก่ ชมพู่ทับทิมจันทร์ ชมพู่ทูลเกล้า ชมพู่เพชรสุวรรณ นอกจากนี้ยังมี ชมพู่เพชร ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อีกด้วย

ในด้านการผลิต เกษตรกรจะต้องเพิ่มการผลิตและพัฒนาคุณภาพของผลไม้ชมพู่เพื่อเพิ่มปริมาณและมูลค่าการส่งออก เช่น มีมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (การรับรอง Organic Thailand), สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM Basic Standards), มาตรฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป รวมทั้งต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น เยลลีชมพู่ แยมชมพู่ ชมพู่อบแห้ง เป็นต้น

นอกจากนี้ เกษตรกรควรมีการรวมกลุ่มผู้ปลูกชมพู่ในรูปแบบสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน และยังต้องส่งเสริมให้มีการวางแผนการผลิต โดยใช้ตลาดนำการผลิต เพื่อลดปัญหาชมพู่ล้นตลาดหรือราคาตกต่ำในอนาคต รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่วยสินค้าในช่องทางออนไลน์ผ่านทางแพลตฟอร์มต่างๆ

ปัจจุบันมีสวนชมพู่หลายแห่งเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน และมีหลายแห่งในจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และนครปฐม ที่ได้ผลักดันให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและจุดการเรียนรู้เชิงเกษตร ซึ่งได้ช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชน


กำลังโหลดความคิดเห็น